โทนี่ วู้ดซัม ร่วมพูดคุยกับ ข่าวสด คลับเฮ้าส์ในหัวข้อ ร่วมรำลึก 20 ปี เหตุการณ์ 9/11 กับ “อดีตนายกรัฐมนตรี” ที่นำประเทศรับมือวิกฤติโลก ชี้บทเรียนครั้งสำคัญ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยกับ ข่าวสด คลับเฮ้าส์ในหัวข้อ ร่วมรำลึก 20 ปี เหตุการณ์ 9/11 กับ “อดีตนายกรัฐมนตรี” ที่นำประเทศรับมือวิกฤติโลกอย่างทันเกม และทันการณ์ เพื่อตอบคำถามสำหรับเหตุการณ์ที่เกิด ณ ช่วงเวลานั้น ว่า “เกิดอะไรขึ้นบ้าง?”

โทนี่ เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญของสหรัฐอเมริกา และโลก ซึ่งส่งผลกระทบกลับมาถึงประเทศไทย ว่า วันที่เกิดเหตุนั่งดู CNN ที่บ้าน เพิ่งเป็นนายก ได้ 7 เดือน ตกใจเหมือนกับทุกคน ในวันนั้นยังไม่เคยเจอกับประธานาธิบดี จอร์จ บุช ที่แต่งตั้งมาเวลาใกล้เคียงกัน จึงได้ส่งสาสน์แสดงความเสียใจ จนพบกับที่เอเปค ที่ประเทศจีน

วันที่เหตุการณ์เกิดขึ้นได้เฝ้าดูเหตุการณ์ และรู้ว่าต้องมีความตึงเครียดบนความมั่นคงของโลกอย่างแน่นอน ซึ่งในช่วงนั้นเกิดความร่วมมือในด้านความมั่นคงขึ้นทั่วโลก ในวันนั้นที่ได้พบ บุช ได้ให้คำแนะนำว่า ควรจะจัดการแหล่งฝิ่น ที่เป็นแหล่งใหญ่ของยาเสพติดโลกที่อัฟกานิสสถาน พร้อมกับจัดการการก่อการร้าย จึงแนะนำว่า ให้ส่งคนมาดูงานเกษตรของเมืองไทย ที่ปลูกพืชทดแทนฝิ่นได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนความคิดของอัฟกานิสสถานไม่ได้ แต่ก็เกิดความร่วมมือกับประเทศในแถบนั้นเป็นต้นมา

เมื่อถามถึงเอกสารวิกิลีคที่ระบุว่า ไทยให้ใช้พื้นที่กักตัว สอบปากคำผู้ก่อการร้าย โทนี่ ตอบคำถามว่า เรื่องนี้ไม่ได้มาในระดับรัฐบาลหรือการเมือง เป็นเรื่องระดับความมั่นคงของ สหรัฐฯ และไทย จีน่า แฮสเปล ผอ.ซีไอเอ ในขณะนั้น เป็นงานระดับเจ้าหน้าที่ ที่รัฐบาลให้ความสนใจ จนต่อมาว่ามีความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับไทยในการสอบสวนผู้ก่อการร้าย เป็นเรื่องจริงที่ร่วมมือกันระหว่างหน่วยความมั่นคงของไทย-สหรัฐฯ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องปกติ ที่ไทยกับสหรัฐมีความร่วมมือด้านความมั่นคงอยู่แล้ว รายละเอียดฝ่ายความมั่นคงไม่ได้เล่า แต่รายงานเพียงว่า มีเอาผู้บาดเจ็บมารักษาตัว ไม่ได้พูดถึงการซ้อมทรมาน และผมไม่เคยได้เยี่ยมผู้ต้องหา ไม่ทราบว่าอยู่ไหนด้วยซ้ำ” โทนี่ กล่าว

ด้าน ทูตรัศม์ กล่าวเสริมเรื่องดังกล่าวว่า สหรัฐฯกับไทย มีความสำคัญมานานแล้ว ซีไอเอและหน่วยงานของสหรัฐฯมาประจำไทยมานาน ทั้งเซฟเฮ้าส์ มาก่อนยุคทักษิณ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องนโยบาย ไม่ได้มาขออนุญาตกับไทยเพราะเป็นชาติมหาอำนาจ แต่ก็มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งไม่ได้ถูกรายงานในระดับรัฐบาล ผมยืนยันได้เรื่องคุกลับ ในยุคหลัง11 กันยายน เอาผู้ก่อการร้ายมาทรมาน ผมยืนยันได้เพราะทำงานดูแลความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ ไม่ปรากฎในทางการ ทำงานลับในส่วนของเขา อย่างที่โทนี่กล่าวว่า มีความร่วมมือกับหน่วยความมั่นคงด้วย แต่ไม่ถูกรายงานถึงฝ่ายนโยบาย

โทนี่ กล่าวต่อว่า ตอนเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน อัลกออิดะฮ์ ทำลายสัญลักษณ์ทุนนิยม ไม่ใช่เรื่องก่อการร้ายอย่างเดียว แต่เป็นอุดมการณ์ ความยากจน การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ช่องว่างมีทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศ มีผลทางความรู้สึกต่อกลุ่มหัวรุนแรง พอรู้สึกไม่เป็นธรรมก็คิดตามความสามารถของพวกเขา เป็นสิ่งเตือนใจของผู้นำโลกว่า ความเหลื่อมล้ำต้องเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ไข ประชาชนก็ลำบากและมีแนวโน้มที่เลวร้าย ผมยืนยันอีกครั้งว่า สหรัฐฯอยู่นานเกินไปและควรใช้เทคโนโลยีมากกว่า มากกว่าสูญเสียถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยในตอนท้าย โทนี่ ได้กล่าวตอบคำถามว่า ไทยได้อะไรที่สหรัฐฯสร้างคุกลับในไทยนั้น โทนี่กล่าวว่า เป็นความร่วมมือของทั้งโลกในการต่อต้านการก่อการร้าย เหมือนกับตอนนี้ที่เกิดระบาดใหญ่โควิด การร่วมมือกับสหรัฐฯนั้นมีหลายระดับ ฝ่ายการเมืองให้นโยบายชัดเจนเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย ประณามการทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ ระดับลงมาคือเจ้าหน้าที่ที่เป็นเครือข่ายทั่วโลก การซ้อมทรมานไม่ดีแน่นอน แต่ระดับการเมืองไม่มีข้อมูลตรงนี้เลย

การเมืองกับความมั่นคงแยกกันไหมนั้น โทนี่กล่าวว่า แยกกัน คือฝ่ายความมั่นคงต้องการกันออกไป แต่ผมอยากจะรู้ ก็พยายามคุยกับฝ่ายทหารจนรู้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เขามองการเมืองว่าเดี๋ยวมาเดี๋ยวไปแต่ความมั่นคงจะยึดถึงประเทศระดับหนึ่ง ไม่รู้คิดถูกผิดไหม แต่ต้องมาร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์กัน

โทนี่ ได้กล่าวถึง บทเรียน 20 ปี เหตุวินาศกรรม 11 กันยา บทบาทต่อไปของไทยและทั่วโลกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า 1.เป็นการเชิญชวนให้ทั้งโลกเป็นพันธมิตรต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งสหประชาชาติและทุกภูมิภาค แม้แต่ประเทศมุสลิมก็ร่วมเพราะไม่นิยมส่งเสริมใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องที่ทำต่อไป

2. สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกต ความรุนแรงอาจเกิดจากความไม่ยุติธรรม อย่างเรื่องชีวิต เศรษฐกิจ เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม ต้องเอามาเป็นอุทาหรณ์ ต้องให้โอกาสคน อย่าให้ตายจน

3. ผมคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานหรืออิรัก เป็นสิ่งที่สหรัฐฯลงทุนมากไป ทั้งการตัดสินใจ การใช้เงิน กำลังพล พยายามสร้างประเทศให้เขาก็ทำไม่ได้ สนับสนุนช่วยเหลือดีกว่า น่าเป็นบทเรียนที่สหรัฐฯจะไม่ทำกับที่ไหนอีก

 

โทนี่ให้ความเห็นถึงบทบาทของไทยในระดับโลกอีก 20 ปีข้างหน้าว่า เราต้องเข้มแข็งกว่านี้ เราต้องพูดอะไรมีน้ำหนัก อย่าด้อยค่าตัวเอง มีภาวะผู้นำในเวทีโลกให้มากขึ้น เราต้องมีบทนำในเวทีอาเซียน เอเปคและเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีการเงินระหว่างประเทศ ตอนนี้กำลังพูดถึง Central Digital Currency กันแล้ว ถ้าเรามีความพร้อมกับ Digital Currency วางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ไม่งั้นประเทศมหาอำนาจไม่เห็นความสำคัญ

โทนี่กล่าวถึงนโยบายยุคทักษิณที่ฉีกแนวนโยบายต่างประเทศสไตล์ไทยที่ดำเนินแบบไผ่ลู่ลมแบบสมัยก่อนว่า ไม่ช่วยอะไรเลย เสียเวลา เราไปต้องพกอะไรไปบ้าง ผมร่วมประชุมกับกต.ก่อนและถามว่าเขาต้องการอะไร เราต้องการอะไร ต้องรู้เขารู้เรา ไม่ใช่เปิดประตูให้เขาล้วงฝ่ายเดียว อีกอย่าง ช่วยตัวเองให้มาก ตอนที่ผมริเริ่ม “กรอบความร่วมมือเอเชีย” (Asia Cooperation Dialogue-ACD) ผมคุยกับจูหลงเจี่ยของจีน ท่านรับปาก คุยกับโคอิซูมิของญี่ปุ่น ก็รับปากแต่ไม่ประกาศเป็นทางการ เลยเอาอินเดียมาร่วม ผมบินไปหามัชปาฮี เกลี้ยกล่อมจนโอเค แล้วก็แถลงว่าเอา ผมบินจากอินเดีย ก็ร่วมประชุมโปอ่าว คุยกับจูล่งเจี่ยกับโคอิซูมิว่า อินเดียเอาด้วย ทำให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นก็เอาด้วย ก็ดำเนินให้เกิดขึ้นเลย คือ เรารอไม่ได้ รอเป็นไผ่ลู่ลมไม่สำเร็จ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน