สพฐ. แจงปม ครูบรรจุ 1 ปี รักษาราชการ 5 ตำแหน่ง ชี้ โรงเรียนขนาดเล็กแทบทุกแห่งพบปัญหานี้ เร่งหาทางแก้ พัฒนาโรงเรียนคุณภาพตำบล

จากกรณีคุณครูสาวรายหนึ่ง ได้แชร์เอกสารคำสั่งแต่งตั้ง ที่ปรากฏชื่อของ ครูพรพิมล ซึ่งเป็นครูเพียงคนเดียว ที่มีหน้าที่ถึง 4 ตำแหน่ง และยังควบตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน เซ็นรับทราบอนุมัติ ด้วยอีก 1 ตำแหน่ง ในโรงเรียนพื้นที่ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว พร้อมทั้งแนบภาพเอกสารคำสั่งโรงเรียน เรื่อง แต่งตั้งและมอบหมายการปฏิบัติหน้าที่ราชการของบุคลากร ภาคเรียนที่ 2/2564 อ่านข่าว : ครูคนเดียว ควบ 4 ตำแหน่ง แถมคนเซ็นอนุมัติ ก็คือตัวเอง เหตุเป็นรักษาการผอ.ด้วย

วันที่ 16 พ.ย.2564 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะโรงเรียนขนาดเล็กติดปัญหามาตรการ ที่คณะกรรมการปรับปรุงกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดไว้ว่าหากสถานศึกษาใดที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนครูได้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อว่า และเมื่อมีครูหรือผู้อำนวยการเกษียณอายุราชการ จะไม่จัดสรรอัตราเกษียณคืนให้ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งในประเทศมีปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่นิ่งนอนใจพยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด เช่น มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพตำบล โดยจะรวมโรงเรียนขนาดเล็กไว้ด้วยกัน แล้วสร้างโรงเรียนหนึ่งให้มีคุณภาพ มีครูครบชั้น มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เมื่อผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนมีคุณภาพ จะส่งนักเรียนมาเรียนเอง โดย สพฐ. จะเป็นผู้สนับสนุนาค่าเดินทางให้นักเรียนด้วย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เน้นย้ำว่าหากเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 โรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และต้องสำรวจอัตราครูในโรงเรียนขนาดเล็กว่ามีเพียงพอหรือไม่ หากโรงเรียนใดที่มีครูไม่เพียงพอ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประสานกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) หาทางเกลี่ยอัตรากำลังคนมาช่วยสมทบโรงเรียนขนาดเล็ก

“นอกจากนี้ สพฐ. มอบอำนาจให้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ สามารถบริหารจัดสรรอัตรากำลังคน เช่น ในโรงเรียนใดที่มีครูอัตราจ้าง หรือพนักงานราชการเกินเกณฑ์กำหนด ให้มาสมทบโรงเรียนขนาดเล็กได้ ปัญหานี้คาดว่าเขตพื้นที่ฯ​อาจจะดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังคนล่าช้ากว่าปกติ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทั้งนี้ สพฐ.จะเน้นย้ำเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบ หาพบปัญหาลักษณธนี้ให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน