โฆษกตร.ยอมรับ! อาจตกหล่นตรวจประวัติรปภ. เหตุทั่วประเทศมีกว่า 3 แสนคน หลังเกิดเหตุระทึกบุกเข้าขืนใจลูกบ้านสาวถึงในคอนโด

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เผยกรณีมีการตั้งข้อสังเกตกรณีนายมนตรี ใหญ่กระโทก หัวหน้ารักษาความปลอดภัย หรือรปภ.หื่น ก่อเหตุข่มขืนลูกบ้านสาวอายุ 36 ปี ในคอนโดมิเนียมย่านฝั่งธนบุรี พื้นที่ สน.เพชรเกษม เมื่อกลางดึกวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นบุคคลต้องห้ามหรือไม่หลังเคยต้องคดีและจำคุกถึง 2 ครั้งว่า

ตามขั้นตอนแล้วบุคคลทั่วไปจะเข้ามาประกอบอาชีพรปภ.ต้องมีขั้นตอนในการขอใบอนุญาต โดยผู้ที่จะสมัครงานเป็นรปภ.ต้องได้รับใบอนุญาตจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่มีนายทะเบียนในสังกัด ฝ่ายอำนวยการ 5 บก.อก.บช.น. เป็นผู้ออกให้ ซึ่งต้องตรวจสอบประวัติต้องโทษคดีและข้อกำหนดที่ไม่ทำให้อาชีพรปภ.เสื่อมเสีย รวมทั้งผ่านการฝึกอบรมตามชั่วโมงที่กำหนด หลังจากได้ใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองแล้ว จึงสามารถนำไปสมัครงานกับบริษัท รปภ.ได้

จากนั้นหากรปภ.ไปกระทำการใดที่ผิดกฎหมายก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในฐานะที่เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยแล้วรับรปภ.ที่ไม่มีใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางบริษัทจะมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ไม่มีใบอนุญาตแล้วไปสมัครงานตามหมู่บ้านหรือชุมชน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ รปภ.คนนั้นจะมีความผิด ฐานไม่มีใบอนุญาตในการเป็นรปภ. แต่ยอมรับว่าช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้รปภ.ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและฝึกอบรม เพื่อขึ้นทะเบียน อาจจะมีการตกหล่นในการตรวจสอบประวัติ เพราะรปภ.ทั่วประเทศมีมากกว่า 300,000 คน

ทั้งนี้ในการปฎิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ระบุว่าห้ามรับบุคคลใด ที่ต้องโทษคดีความผิดทางเพศ เข้าทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย หากบริษัทรักษาปลอดภัย ไม่ตรวจสอบประวัติย้อนหลังกับผู้ที่มาสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน