สธ.เผยมีคนร้องแจ้งกลิ่น-ควันกัญชา ทำให้รำคาญ ไม่ถึงขั้นจับกุมกม.เน้นสกัดปาร์ตี้สูบ พบบางร้านอาหารแอบใส่กัญชาไม่บอกลูกค้า เอาเปรียบผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงผลการดำเนินงานภายหลังการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดกลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญและประกาศกรมอนามัยเกี่ยวกับการนำกัญชามาปรุงอาหาร ต้องแจ้งเตือนประชาชน ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำหลักการปลดล็อกกัญชา เพื่อใช้ในการแพทย์และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม จึงออกประกาศเรื่องกลิ่นและควันออกมา เพราะเราห่วงเรื่องการนำไปจัดส่งเสริมการขาย การปาร์ตี้กัญชา

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและการดำเนินงานตามกฎหมาย ไม่ได้มุ่งเน้นหาว่าใครสูบกัญชา ซึ่งมีความผิดแล้วจะจับกุมทันที แต่ขั้นตอนคือหากพบว่ามีการสูบเกิดขึ้น ก็จะตรวจเตือน จากการเฝ้าระวังและรายงานผลเข้ามา ก็พบว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากปลดล็อกให้ปลูกกัญชาได้ในบ้าน แต่หากเป็นการใช้ในบ้าน ไม่ได้มีผลกระทบกับผู้อื่น หรือการสูบในที่สาธารณะควัน กลิ่นไม่สร้างความรำคาญ ก็ไม่มีความผิดตามประกาศ

“เราก็พบว่าสูบใกล้ผู้อื่น แล้วแจ้งเรื่องเข้ามา ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจเตือนนี้เรื่องนี้ โดยคนที่ถูกแจ้งก็งดหรือเลี่ยงการกระทำไป ข้อมูลตรงนี้ก็ทยอยเข้ามา แต่ยังไม่มีถึงขั้นจับกุม แต่ข้อสังเกตหลังจากที่ช่วยกันรณรงค์ว่าแม้ปลดล็อกกัญชาแล้ว แต่ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการ ก็จะไม่พบใครสูบในที่สาธารณะเท่าที่ควร แต่สิ่งที่เราย้ำคือ หากไม่จำเป็น ก็ไม่ควรใช้กัญชา เพื่อเรานำมาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจและสังคม” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ส่วนการใช้กัญชาเพื่อปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยผู้บริโภคหลายคนก็ทราบว่าร้านไหนใส่กัญชาเพราะบางคนจะมีอาการคอแห้งๆ แต่หากคอแห้งมากๆ ลูกค้าก็จะหาย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ร้านอาหารสามารถทำเมนูให้อร่อยได้โดยไม่ต้องใส่กัญชา ส่วนร้านที่จะใส่กัญชาก็ต้องมีป้ายเตือนลูกค้า ใส่กัญชาในปริมาณที่เหมาะสม ปลอดภัย และไม่ขายให้กลุ่มที่กำหนด คือเด็กและหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร

เมื่อถามว่า ทางกรมอนามัยตรวจสอบร้านอาหารที่แอบใส่กัญชาในเมนูแต่ไม่แจ้งลูกค้าหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีทีมลงไปตรวจสอบ พบว่าร้านแจ้งกับลูกค้าว่าใส่กัญชา เพราะเป็นจุดขายให้ร้าน แต่ในส่วนของความเชื่อที่ว่าใส่กัญชาแล้วลูกค้าติดใจรสชาติมากขึ้น แต่ไม่แจ้งลูกค้าถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค ตรงนี้เราจึงต้องย้ำว่าร้านต้องติดป้ายเมนูกัญชา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากกินแบบที่ใสกัญชา และในบางคนก็มีความไวต่อกัญชาด้วย

ซึ่งเราได้รับรายงานมาประปราย โดยหน่วยงานในพื้นที่ 2 หน่วย คือ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุข และ 2.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ร่วมภาคส่วนอื่น เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ที่ต้องไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy)ให้เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการใช้ในทางไม่เหมาะสม หรืออันตราย ไม่ใช่เฉพาะกัญชาแต่เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่ต้องควบคุมการใช้เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน