มติชนมอบหนังสือให้ 36 ห้องสมุดกทม. เชื่อหนังสือเป็นพลัง เปลี่ยนกรุงเทพฯให้น่าอยู่ โดยเตรียมมอบหนังสือดีๆ ให้กับห้องสมุดกทม.ทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปีด้วย

เมื่อเวลา 14.05 น. วันที่ 28 มิ.ย.65 ที่ห้องเจ้าพระยา นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานรับมอบหนังสือจากบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเข้าห้องสมุดของกรุงเทพมหานคร ตามโครงการมอบหนังสือและนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 36 ห้องสมุดกรุงเทพมหานคร โดยมีน.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย นายนฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการงานดีจำกัด (เครือมติชน) ส่งมอบหนังสือและนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ให้กับ 36 ห้องสมุดกรุงเทพมหานคร

น.ส.ปานบัว กล่าวว่า ที่มาของการจัดโครงการดังกล่าว เนื่องจากมติชนทำงานส่งเสริมด้านการอ่านมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้มติชนจัดทำห้องสมุดให้กับกรมราชทัณฑ์ โรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร โรงพยาบาล และหน่วยงานที่ส่งเสริมการอ่าน ซึ่งทำมาโดยตลอดจนถึงปัจจับุน แต่ยังไม่เคยทำงานกับร่วมกับห้องสมุดของกทม.โดยตรง จึงเป็นครั้งแรกที่จัดโครงการมอบหนังสือและนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 36 ห้องสมุดกรุงเทพมหานครขึ้น เพราะรู้สึกว่ากทม.มีความหวัง ทุกคนรู้สึกแบบนี้เช่นกัน และในความหวัง เราช่วยอะไรได้บ้าง เพื่อให้กทม.เป็นเมืองน่ารู้และน่าอยู่ ในฐานะผู้ทำสิ่งพิมพ์ เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เมืองเป็นไปอย่างที่ผู้บริหารกทม. ต้องการได้

น.ส.ปานบัว กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่นำมามอบให้นั้น ตนเป็นผู้เลือกเอง เชื่อว่ามีหนังสือที่หลายคนต้องอ่านด้วย นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่เป็นคาแรกเตอร์ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. แรงบันดาลใจจากนายชัชชาติ เรื่องน่ารู้ของกรุงเทพฯ เช่น พระแก้วมรกต ซึ่งเรื่องเล่ายังผิดอยู่ จะต้องช่วยกัน เพราะอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก เรื่องราวของวัดโพธิ์ กิจกรรมฝาผนัง พระพุทธรูปและประวัติศาสตร์ต่างๆ ของกรุงเทพ เพราะเป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ของกทม.มาตลอด ขณะเดียวกันยังตรงกับวันและเดือนที่มีนัยยะสำคัญ ซึ่งไม่ได้สำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่สำคัญที่จำได้ว่ามติชนเริ่มมอบหนังสือครั้งแรกในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งครบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม เพื่อจะได้ติดตามผลการมอบหนังสือ อย่างไรก็ตามการเข้าใจทุกมิติของกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่ดีและแก้ปัญหาได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีหนังสือเยาวชน หนังสือที่เป็นคลาสสิก

น.ส.ปานบัว กล่าวว่า เชื่อว่าการอ่านจะนำพาเราไปได้ทุกที่ แม้ตัวจะอยู่กรุงเทพฯ แต่วรรณกรรมคลาสสิกจะพาไปทั่วโลก จึงเป็นวิธีคิดว่าจะอยู่ที่ใด การตื่นตัวการตระหนักรู้ เกิดขึ้นได้จากการอ่าน จึงยกหนังสือวรรณคลาสสิกในระดับโลกมาให้ เพื่อจะได้เปิดความสนุก ความเพลินเพลิน ความเข้าใจในวรรณกรรมระดับโลก ตลอดจนบทเรียนหลังโรคระบาด ซึ่งจำเป็นต้องอ่าน เพื่อเรียนรู้ในการต้องรับมือการเปลี่ยนแปลง ภาษี สิทธิสตรี และอีกหลายเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น ที่เป็นเทรนด์ปัจจุบัน

น.ส.ปานบัว กล่าวว่า หนังสือที่มอบให้จะช่วยกระตุ้นห้องสมุดกทม.มีสีสันมากขึ้น จะเป็นมิติเล็กๆ ที่มติชน และเชื่อว่าอนาคตจะมีสำนักพิมพ์อื่นๆ เข้ามามอบหนังสือเช่นกัน เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันจะมอบหนังสือศิลปวัฒนธรรมให้กับห้องสมุด ทั้ง 36 แห่ง ทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปีด้วย ซึ่งหนังสือที่มอบให้ทั้งหมด เป็นความตั้งใจ คิดว่าทั้งหมดจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหาร บรรณารักษ์ และประชาชนผู้อ่านและผู้ใช้บริการห้องสมุด เชื่อว่าหนังสือจะเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการเปลี่ยนกรุงเทพฯให้น่าอยู่น่ารู้ สำหรับทุกคน

น.ส.ปานบัว กล่าวด้วยว่า เรื่องหนังสือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด หากเทียบการอุตสาหกรรมอื่น เช่น ดนตรี ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ เช่น การสนับสนุนสถานที่ของกทม. ซึ่งมีหลายสำนักพิมพ์ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ พร้อมจัดกิจกรรม หากมีการชูอัตลักษณ์ของห้องสมุดได้ จะสามารถนำหนังสือที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์นั้นๆ เข้ามาจัดกิจกรรมได้ ทำให้เกิดการร่วมมือของคนในวงการทำหนังสือ และสร้างความหลากหลายของห้องสมุด นอกจากนี้กทม.ควรจะเสนอหนังสือให้ประชาชนอ่าน หรือแนะนำหนังสือที่ผู้ว่าฯกทม.อ่าน เพราะอาจารย์เป็นผู้นำที่ทุกคนเชื่อ เพราะอาจารย์เป็นคนแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ คิดบวกที่สุด และเชื่อว่าทุกอย่างจะตามมา ถือเป็นวิสัยทัศน์ของกทม.ในเรื่องของการผลักดันเมืองที่เป็นการอ่านจริงๆ

ด้านนายศานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาหนังสือค่อนข้างสูง กลายเป็นของหรูหราในบางครั้ง บางเล่มราคาเงินเดือนขั้นต่ำซื้อไม่ได้ กทม.พยายามทำให้ห้องสมุดเข้าถึงทุกคน โดยปัจจุบันมีห้องสมุด 34 แห่ง ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง ห้องสมุดของโรงเรียน 437 แห่ง บ้านหนังสือหลายร้อยแห่ง แต่สิ่งที่ขาดคือคุณภาพหนังสือ ที่ไม่เป็นปัจจุบัน และทรัพยากรบุคคลในการจัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นการอ่าน ดังนั้นกทม. จึงตั้งคณะกรรมการการเรียนรู้การอ่าน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดกิจกรรมการอ่านในพื้นที่กทม. เช่น หอสมุดเมือง รวมทั้งหาอัตลักษณ์ห้องสมุดชุมชน ทั้ง 50 เขต เพราะการอ่านไม่ใช่แค่การเรียนรู้อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นวัฒนธรรม หากปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนจะทำให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน