ย้อนดูโศกนาฏกรรม เหยียบกันตายครั้งใหญ่ทั่วโลก ความสูญเสียอันน่าสลด ก่อนมาถึงเหตุการณ์เทศกาลฮัลโลวีนที่อิแทวอน ในกรุงโซล เกาหลีใต้

จากโศกนาฏกรรมเทศกาลฮัลโลวีนที่อิแทวอน ในกรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 151 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จากการที่ฝูงชนจำนวนมากเบียดเสียดยัดเยียดกันบนถนนแคบๆ จนนำไปสู่ความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่สร้างความตื่นตกใจไปทั่วโลก

หากย้อนดูโศกนาฏกรรม อันเนื่องมาจากการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากทั่วโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าเกิดเหตุมาแล้วหลายครั้ง

3 ธันวาคม 2522 — มีผู้เสียชีวิต 11 รายเนื่องจากแฟนเพลงหลายพันคนรีบแย่งกันเข้าไปคอนเสิร์ตของ The Who ที่ Riverfront Coliseum ในซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา

20 มกราคม 2523 — สนามกีฬาไม้ 4 ชั้นที่สร้างขึ้นแบบชั่วคราว พังลงจากการสู้วัวกระทิงในเมืองซินเซเลโฮ ประเทศโคลอมเบีย คร่าชีวิตผู้ชมไปประมาณ 200 ราย

20 ตุลาคม 2525 — มีผู้เสียชีวิต 66 รายเนื่องจากแฟนบอลเหยียบกันตายในการแข่งยูฟ่า คัพ ระหว่างสปาร์ตัก มอสโก และฮาร์เลม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สนามกีฬาลุซนิกิในมอสโก

28 พฤษภาคม 2528 — มีผู้เสียชีวิต 39 รายจากความรุนแรงของแฟนบอลในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปรอบชิงชนะเลิศปีนั้น ระหว่างลิเวอร์พูลกับยูเวนตุสที่สนามกีฬาเฮย์เซล ในกรุงบรัสเซลส์

13 มีนาคม 2531 — มีผู้เสียชีวิต 93 รายเมื่อแฟนฟุตบอลหลายพันคนกรูกันไปยังทางออกของสนามกีฬาที่ถูกล็อคไว้ เพื่อหนีพายุลูกเห็บที่ตกลงมาอย่างกะทันหันในกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

15 เมษายน 2532 — มีผู้เสียชีวิต 97 รายและได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เนื่องจากแฟนบอลแออัดยัดเยียดกันในสนามกีฬาฮิลส์โบโรที่แออัดเกินไป ในเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ โดยเหยื่อรายหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตในปี 2564 ด้วยโรคปอดบวมจากการสำลัก ซึ่งเขากลายเป็นผู้เปราะบางจากโรคดังกล่าวหลังได้รับบาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น

2 กรกฎาคม 2533 — ระหว่างพิธีฮัจญ์ประจำปีในซาอุดีอาระเบีย ผู้แสวงบุญชาวมุสลิม 1,426 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอเชีย เสียชีวิตในและรอบๆ อุโมงค์คนเดินยาวที่ทอดจากมักกะฮ์ไปยังเต็นท์ที่พักในมีนา

13 มกราคม 2534 — มีผู้เสียชีวิต 42 รายเมื่อแฟนบอลพยายามหลบหนีการทะเลาะวิวาทที่สนามกีฬา Oppenheimer ในแอฟริกาใต้

23 พฤษภาคม 2537 — เกิดเหตุกับผู้แสวงบุญที่เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ทำให้ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมเสียชีวิต 270 ราย

23 พฤศจิกายน 2537 — ความตื่นตระหนกระหว่างการประท้วงทางการเมืองในเมืองนาคปุระ ประเทศอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 113 ราย

16 ตุลาคม 2539 — มีผู้เสียชีวิต 84 ราย และได้รับบาดเจ็บ 147 คน เนื่องจากแฟนบอลที่ตื่นตระหนกถูกเหยียบและกักบริเวณเอาไว้ ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างกัวเตมาลาและคอสตาริกาในกัวเตมาลาซิตี้ เมืองหลวงของกัวเตมาลา

9 เมษายน 2541 — เกิดเหตุกับผู้แสวงบุญที่อยู่บนสะพานในนครมักกะฮ์ ทำให้ผู้แสวงบุญฮัจญ์เสียชีวิต 118 ราย

11 เมษายน 2544 — มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 43 ราย ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลที่ Ellis Park ในโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้

9 พฤษภาคม 2544 — มีผู้เสียชีวิตกว่า 120 รายเมื่อตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนที่ก่อเหตุวุ่นวายที่สนามกีฬาในอักกรา เมืองหลวงของกานา ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก

17 กุมภาพันธ์ 2546 — มีผู้เสียชีวิต 21 รายจากการเบียดเสียดยัดเยียดกันทางออกบันไดของไนท์คลับในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา

20 กุมภาพันธ์ 2546 — ดอกไม้ไฟบนเวทีระหว่างคอนเสิร์ต Great White ที่ไนท์คลับสเตชั่น ในเมืองวาร์วิก รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 100 ราย และบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน

1 กุมภาพันธ์ 2547 – ความตื่นตระหนกระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ที่สะพานจามารัตใกล้นครมักกะฮ์ คร่าชีวิตผู้คนไป 251 ราย

25 มกราคม 2548 — ความตื่นตกใจในหมู่ผู้แสวงบุญชาวฮินดูใกล้กับวัด Mandhradevi ในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 265 ราย

31 สิงหาคม 2548 — ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมชีอะห์อย่างน้อย 640 รายในกรุงแบกแดดเสียชีวิต เมื่อราวบันไดบนสะพานพังลงมาระหว่างขบวนแห่ทางศาสนา ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากตกลงไปในแม่น้ำไทกริส

12 มกราคม 2549 — ความตื่นตระหนกในหมู่ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมระหว่างพิธีฮัจญ์ใกล้นครมักกะฮ์ คร่าชีวิตผู้คนไป 345 ราย

4 กุมภาพันธ์ 2549 — ความตื่นตระหนกตกใจที่เกิดขึ้นที่ PhilSports Arena ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย ขณะที่พวกเขากำลังรอการคัดตัวเข้าร่วมรายการวาไรตี้โชว์

30 กันยายน 2551 — มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 168 ราย และบาดเจ็บอีก 100 คน เมื่อผู้แสวงบุญชาวฮินดูหลายพันคนเจอกับเรื่องที่ทำให้ตกใจที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองจอดปูร์ ประเทศอินเดีย

24 กรกฎาคม 2553 — มีผู้เสียชีวิต 21 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 650 คนในอุโมงค์ที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน ซึ่งเป็นทางเข้าเพียงแห่งเดียวไปยังเทศกาลดนตรี Love Parade ที่เมืองดืสบวร์ก ประเทศเยอรมนี

22 พฤศจิกายน 2553 — มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 340 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน หลังผู้คนพากันตื่นตกใจในงานเทศกาลประจำปีที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา

27 มกราคม 2556 — ไฟไหม้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 ราย ที่ไนท์คลับ Kiss ในเมืองซานตา มาเรีย ประเทศบราซิล

24 กันยายน 2558 — ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมอย่างน้อย 2,411 ราย เสียชีวิตระหว่างพิธีฮัจญ์ในซาอุดิอาระเบีย

30 เมษายน 2564 — มีผู้เสียชีวิต 45 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบคนจากเหตุสะเทือนขวัญที่งานจาริกแสวงบุญ Mount Meron ประจำปีในอิสราเอล

5 พฤศจิกายน 2564 — แฟนๆ ในงานเทศกาลดนตรีในเมืองฮุสตันพุ่งขึ้นสู่เวทีระหว่างการแสดงของแร็ปเปอร์ ทราวิส สก็อตต์ จนเกิดความตื่นตระหนก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 รายและบาดเจ็บอีกมาก

1 ตุลาคม 2565 — ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาหลังจากเกิดเหตุความรุนแรงหลังการแข่งขันฟุตบอลของชาวอินโดนีเซีย ทำให้ผู้ชมเร่งหาทางออกจากสนามกีฬา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 125 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน

29 ตุลาคม 2565 — มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 146 ราย และบาดเจ็บอีก 150 คน เมื่อถูกฝูงชนจำนวนมากเบียดกันจนแน่นบนถนนแคบๆ ในช่วงเทศกาลฮัลโลวีนที่อิแทวอน หนึ่งในแหล่งท่องราตรีดังในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน