ปคบ.-อย. บุกค้น คลินิกหรูกลางกรุง ยึดยาเถื่อน หลายร้อยรายการ อีกคดี บุกตรวจคลินิกเสริมความงามดัง สั่งซิลิโคนเถื่อนมาให้บริการลูกค้า

วันที่ 16 ม.ค.2566 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., พ.ต.ท.สุพจน์ พุ่มแหยม รอง ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลจับกุมคดีสำคัญ 2 คดี

ปคบ.-อย. บุกค้น คลินิกหรูกลางกรุง ยึดยาเถื่อน หลายร้อยรายการ อีกคดี บุกตรวจคลินิกเสริมความงามดัง

ปคบ.-อย. บุกค้น คลินิกหรูกลางกรุง ยึดยาเถื่อน หลายร้อยรายการ อีกคดี บุกตรวจคลินิกเสริมความงามดัง

พ.ต.อ.ธรากร กล่าวว่า คดีแรก เจ้าหน้าที่นำหมายค้นเข้าตรวจสอบคลินิกชื่อดังแห่งหนึ่งภายในอาคารแห่งหนึ่งย่านปทุมวัน กทม. ซึ่งพบว่าเปิดให้บริการทางเวชกรรม, กายภาพบำบัด, แพทย์แผนไทยประยุกต์ หลังพบว่ามีการใช้ยานำเข้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และอาหารเสริมที่มีผสมยาอันตราย มาให้บริการหรือรักษาซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ

พ.ต.อ.ธรากร กล่าวต่อว่า โดยขายเป็นคอร์สแพ็กเกจต่าง ๆ เช่น ดีท็อกซ์สารพิษ, ชะลอวัยด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และการฉีดวิตามินเพื่อบำรุงตับ และสมองรักษาอาการเจ็ทแล็ก เพิ่มพลังงานกับร่างกายให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิ แต่ละคอร์สหรือแพ็กเกจจะมีราคาแตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่ 1,000 บาท ไปจนถึง 2,000,000 บาท จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดยาและอาหารเสริมดังกล่าวได้ 252 รายการ มูลค่า 5,977,000 บาท

พ.ต.อ.ธรากร กล่าวอีกว่า คลินิกดังกล่าว เน้นรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ โดยจะให้ผู้เข้ารับบริการตรวจเลือดก่อน จากนั้นนำเลือดไปตรวจวิเคราะห์ แล้วจึงเสนอขายคอร์ส หรือขายยาให้ลูกค้าอ้างว่าเป็นยาที่ไม่มีขายในเมืองไทย มีขายเฉพาะคลินิกนี้เท่านั้น หลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวน ก็จะออกหมายเรียกกรรมการบริษัทฯ เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา, จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง”

พ.ต.อ.ธรากร กล่าวว่า ส่วนแพทย์ที่มีชื่อเป็นผู้ดำเนินการ จะมีความผิดฐาน “ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จําเป็นประจำสถานพยาบาลฯ ตามชนิดที่กําหนดในกฎกระทรวง” นอกจากนี้ หากผลตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม พบมีการผสมสารอันตรายจริงก็จะถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกด้วย

ส่วนคดีที่ 2 เป็นการขยายผลจากการเข้าจับกุมโรงสีร้างแห่งหนึ่งพื้นที่ ม.1 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งพบว่าถูกใช้เป็นฐานลักลอบผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนศัลยกรรมเสริมจมูกและหน้าผาก ส่งไปยังคลินิกต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงมีกายขยายผลต่อเนื่อง จนทราบว่ามีพนักงานฝ่ายจัดซื้อของบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้สั่งให้ผลิต

เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะถูกส่งไปที่คลินิกแห่งหนึ่งย่านงามวงศ์วาน และสาขาที่ จ.ขอนแก่น ก่อนกระจายไปยังสาขาอื่น ๆ กว่า 30 สาขาทั่วประเทศ โดยพบหลักฐานการจ่ายเงินค่าซิลิโคน เมื่อปี 2565 มากกว่า 2 ล้านบาท จึงนำกำลังเข้าตรวจค้นคลินิกดังกล่าวตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 12,282 ชิ้น, ซิลิโคนหน้าผาก 2,775 ชิ้น และซิลิโคนคางอีก 1,107 ชิ้น

ภก.วีระชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าซิลิโคนที่ใช้สำหรับทำศัลยกรรมอย่างถูกต้องประมาณ 9 บริษัท ซึ่งราคาที่ขายอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 900 บาทขึ้นไป ส่วนต้นทุนของซิลิโคนเถื่อนเหล่านี้แต่ละชิ้นอยู่ที่ประมาณ 60-80 บาท แต่ทางคลินิกนำมาขายคอร์สผ่าตัดศัลยกรรม ในราคา 4,900-50,000 บาท

ภก.วีระชัย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบผู้เข้ารับบริการศัลยกรรม ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีการผ่าตัดศัลกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชิ้นส่วนซิลิโคนมากกว่า 1,621 ราย เป็นการเสริมจมูก 1,436 ราย, คาง 154 ราย และเสริมจมูกกับคางพร้อมกัน 31 ราย ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องกับคลินิกแห่งนี้ ให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา

ในความผิดฐานร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ, ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้, ร่วมกันขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน