เกรียงไกร เตือนปี 66 เศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอย ดอกเบี้ยขาขึ้น สภาพอากาศไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เสวนาในงาน Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 25 ม.ค.66 ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) เครือมติชน จัดเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสวนา ในหัวข้อ New Episode เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไทย ว่า

ขณะนี้เศรษฐกิจโลก กำลังอยู่ในช่วง BANI World ซึ่งเป็นคำนิยามใหม่ จากเดิมคงได้ยินคำว่าวูก้า (VUCA) ซึ่งเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับภาพของเศรษฐกิจโลกมาพักใหญ่ แต่ขณะนี้ถูก Disrupt ด้วยคำใหม่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 2563 (2020) เป็นต้นมา คือ BANI World

โดย B คือ Brittle (เปราะบาง) เทียบเคียงกับ เศรษฐกิจถดถอย (Recession) ปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น A คือ Anxious (ความกังวล) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change โดยมีสัญญาณตั้งแต่ปี 2565 ไม่ว่าจะ ปรากฎการณ์ฝนทิ้งระเบิด (Rain bomb) คลื่นความร้อนยุโรป แม่น้ำแยงซีแห้งขอด จึงทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ล้อเล่นไม่ได้ N คือ Nonlinear (คาดเดายาก) ในปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และ I คือ Incomprehensible (ความไม่เข้าใจ) จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นดิจิทัล การ Disruption จากเทคโนโลยีและห่วงโซ่การผลิต

ไทยในฐานะเป็นประเทศที่พึ่งพา การส่งออก เกือบ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ขณะนี้เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ซึ่งก่อนที่จะมีโควิด-19 หรือปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน คิดเป็น 12% ของจีดีพี หรือ ราว 2 ล้านล้านบาท และการท่องเที่ยวภายในประเทศ อีก 1 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างชาติ รวมทั้งการส่งออกเกือบทั้งหมด

“ขณะที่ ทั่วโลก เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะการชะลอตัว โดยเฉพาะการเตือนของ ไอเอ็มเอฟ แต่เดิมมีการปรับประมาณการณ์ลดลง อยู่ที่ 2.7% แล้ว แต่ล่าสุด ธนาคารโลก ก็ปรับลดลงไปอีก เหลือเพียง 1.7% ซึ่งเกิดจากภาวะที่เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว จากปัญหาความขัดแย้งรัสเซียกับ ยูเครน และปัญหาราคาพลังงาน ด้านเศรษฐกิจสหรัฐ ก็กำลังถดถอย ด้วยความจงใจ เพราะต้องการสู้กับปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ” นายเกรียงไกร กล่าว








Advertisement

ดังนั้น สิ่งที่สหรัฐกลัวนั้นไม่ใช่รัสเซีย แต่เป็นเงินเฟ้อขึ้นไปสูงถึง 9.1% หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี เพราะฉะนั้นสหรัฐจึงสู้กับเงินเฟ้อด้วย 2 มาตรการสำคัญ คือ การใช้นโยบาย QT (Quantitative Tightening) คือ นโยบายการเงินแบบตึงตัว เพื่อดูดเงินจากระบบกลับเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หลังจากที่ใช้ QE (Quantitative Easing) มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งทำให้เงินล้น และนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จากที่เคยต่ำที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ขึ้นถี่ๆ ขึ้น 0.50% และพอไม่ทันใจก็ขึ้น 0.75% สามครั้งติดกัน ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25% แต่ก็ยังไม่สามารถเบรกเงินเฟ้อได้ ถึงแม้จะลดลงมาเหลือ 7% แต่เป้าหมายที่สหรัฐวางไว้คือ 2% เพราะฉะนั้น ปีนี้ยังเป็นขาขึ้นของดอกเบี้ย

หลังจากที่สหรัฐ ใช้สองยาแรง ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และอำนาจการซื้อในประเทศสหรัฐ ทำให้ในช่วงปลายปี 2565 ยอดออเดอร์ต่างๆ จากสหรัฐไปยังทั่วโลกลดลง รวมทั้งยอดออเดอร์จากไทยเองก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนนั้น ยังโชคดีที่เปิดประเทศเร็ว ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะ เติบโต 5% แต่ท้ายที่สุดก็โตเพียง 3% อย่างไรก็ดี ปีนี้ จีนเปิดประเทศเร็ว ก็ต้องติดตามว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องของโควิด-19 ซึ่ง ส.อ.ท. มองว่า อย่างน้อยใน 3 เดือนแรกจากการเปิดประเทศเร็วก็เกิดการติดโควิดกันมากขึ้นทุกวัน โรงงานยังชะงักอยู่ เปิดบ้างปิดบ้าง นักท่องเที่ยวก็ยังออกมาเที่ยวได้ไม่เต็มที่ คาดการณ์ว่าโมเดลคล้ายๆกับ อินเดีย ที่ใช้วิธีการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้น มองว่าเมื่อผ่านไป 6 เดือนจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในจีน

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่ล้อเล่นไม่ได้ เพราะเป็นความท้าทายของมวลมนุษยชาติทั่วโลก เพราะว่าสัญญาณที่รุนแรง ชัดเจนขึ้น จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีทั้งโอกาส และความท้าทาย โอกาสคือ การสร้างธุรกิจใหม่ๆ คาร์บอนเครดิต พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมสีเขียว บีซีจี โมเดล ซึ่งไทยกำลังจะก้าวไปเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร

สำหรับความท้าทาย แน่นอนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรี เพราะจะมีมาตรการกีดกันทางการค้า ที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM :ซีแบม) ที่สหภาพยุโรป ประกาศใช้ในการควบคุมดอกเบี้ย หรือภาษี จากทุกอุตสาหกรรม ที่ปล่อยคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ทำให้โลกร้อน และเกิดอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งซีแบมจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ นอกจากนี้คือ เรื่องภัยธรรมชาติ และเชื้อโรคใหม่ๆ จำนวนมหาศาลที่ฝังตัวในน้ำแข็งขั้วโลก ที่กำลังละลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน