ชาญศิลป์ โชว์ผลงานฟื้นฟูการบินไทย มีเงินใช้ถึงปี 67 เตรียมเครื่องบิน 90 ลำ รับธุรกิจฟื้น-ท่องเที่ยวขาขึ้น ในงาน Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023

เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 25 ม.ค.66 ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) เครือมติชน จัดเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสวนา ในหัวข้อ​ Speed up การบินไทย-ท่องเที่ยวไทย ว่า

ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ออกมาพูดว่าการบินไทยไปถึงไหนแล้ว การบินไทยเป็นสายการบินของประเทศไทย เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ซึ่งอุตสาหกรรมการบินหลังวิกฤติโควิด-19 จากการสังเกตุพบว่าอุตสาหกรรมการบินค่อนข้างเปราะบาง และบอบบาง โดย 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินเจอเหตุวินาศกรรม 9/11 ส่งผลให้ธุรกิจการบินของโลกติดลบไปกว่า 4 ปี อีกครั้งหนึ่งเราต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ หรือวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) เกิดขึ้นเมื่อปี 2008-2009 ติดลบอีก 2 ปี แต่หลังจากนั้นธุรกิจการบินก็กลับมาเติบโต บางปีมีกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (อีบิทด้า) เกือบ 10% แต่โชคไม่ดีความบอบบางที่เกิดขึ้น กระทบกับธุรกิจการบิน และจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก BANI ที่เป็นคำนิยามเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน และมาเยอะมากใน ปัญหาคือเราจะปรับตัวอย่างไร

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่เกิดโควิด-19 เป็นช่วงที่ธุรกิจการบินขาดทุนสูงสุดในรอบ 100 ปีตั้งแต่มีธุรกิจการบินมา หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท ทั้งโลกหยุดกิจกรรมทั้งหมด รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจแอร์พอร์ต อาทิ ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน สร้างเครื่องบิน ธุรกิจอาหาร และแรงงาน สายการบินหลายสายในโลก ต้องหยุด ต้องเลิก และล้มละลายรวมถึงกาารบินไทย ที่ต้องฟื้นฟูกิจการ ซึ่งวิกฤตในครั้งนี้ยังต้องเดินหน้า และติดลบต่อไป เพราะกว่าจะปรับตัวขึ้น ต้องใช้เวลาเพราะตกลงไปอย่างหนัก หนี้สินมากมาย หากถามว่าการบินไทยไปถึงไหนแล้ว พอวิกฤตในปี 2563 รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบออกมาป้องกัน อาทิ การไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ ต้องมีการตรวจสอบต่างๆ มีการโยกย้ายคนน้อยมาก พอในปี 2564 เราเริ่มมีวัคซีนแล้ว เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น กฎระเบียบก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1 จาก 2

หลังจากครึ่งปี 2565 ปัจจุบันกฎระเบียบน้อยลงเรื่อยๆ เปิดประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศที่เปิดและเราพยายามเน้นก่อนคือ อินเดีย เพราะจีนในเวลานั้น มีนโยบายซีโร่โควิด มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ทำให้จีนยังไม่ลงตัว ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ยังคงนโยบายซีโร่โควิด แต่จีนเพิ่งตั้งหลักได้ และมีการประกาศ แต่การประกาศของจีน ที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน การต่อพาสปอร์ต หรือการทำอะไรต่างๆ ในการเตรียมเดินทางไม่ง่าย เพราะจำนวนประชากรที่มากมาย เพราะฉะนั้นในยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลียเกิดก่อน จีนจะตามมาทีหลัง

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ได้ประมาณการว่าในยุโรป สหรัฐฯ และลาตินอเมริกา กลุ่มนี้สามารถกลับมาคล้ายกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดได้ในช่วงปี 2567 เพราะกลุ่มนี้มีความต้องการจากยุโรป และมีการเดินทางจากลาตินอเมริกา กับสหรัฐ จำนวนมาก และเป็นประเทศที่เสรี สามารถที่จะมีการฉีดดวัคซีนต่างๆ ได้รวดเร็ว ส่วนในโซนเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะกลับมาเติบโตในปี 2568-2569 เพราะมีประเทศขนาดเล็กเยอะมาก หากไม่นับรวมจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งขนาดของประเทศ และความไม่ทันสมัยของประเทศ ทำให้เรายังไม่สามารถไปได้เร็วนัก อีกประการหนึ่ง คือ ด้านโดเมสติก หรือการบินในประเทศเล็กๆ ยังไม่มาก








Advertisement

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบันนั้น คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 11 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่หากย้อนไปก่อนช่วงโควิดคนต่างชาติเคยมาเยือนไทยกว่า 40 ล้านคน หรือเกือบเทียบเท่าประชากรในประเทศไทย ซึ่งมาในช่วงพีค หรือช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ส่วนความความคืบหน้าของการบินไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ได้ให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นได้มีการยื่นขอแก้ไขแผน ซึ่งปัจจุบันใช้แผนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งแผนปัจจุบันเป็นแผนที่ดีมากจะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง โดย 1.ได้มีการเจรจาแฮร์คัทหนี้เรื่องเครื่องบิน 2.แปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งรัฐบาลจะแปลงหนี้เป็นทุน 100% แต่เอกชนจะแปลงหนี้เป็นทุน ประมาณ 25% มีการเพิ่มทุน ต่อไปภายในปี 2567-2568 การบินไทยก็จะมีสัดส่วนทางการเงินที่ดี มีทุนเป็นบวก และน่าจะกลับมาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 ต่อไป

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเงินของการบินไทย ยืนยันว่าไม่ต้องกู้เพิ่มแล้ว การบินไทยมีเงินใช้ถึงปี 2567 แล้ว และหากแปลงหนี้เป็นทุนได้ ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างทุนได้ การบินไทยก็รอดแล้ว แต่ต้องขออภัยผู้โดยสารที่บางครั้งเครื่งบินดีเลย์ กระเป๋าล่าช้า อาหารไม่อร่อยในช่วงแรก เนื่องจากซัพพลายเชนมีปัญหา และราคาน้ำมันเป็นปัญหา ซึ่งราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ได้ถูก ก่อนช่วงเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน อยู่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ความจริงแล้วต้นทุนของราคน้ำมัน อยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เท่านั้นเอง แต่ที่ราคาแพงเนื่องจากบวกค่าขนส่งกับพรีเมียมเข้าไปเยอะ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนเครื่องบินปัจจุบันอยู่ที่ 64 ลำ และจะมีเครื่องบินเพิ่มมาอีก 10-20 ลำ รวมเป็น 80-90 ลำ เป็นรูปแบการเช่า โดยจะจ้างในเครื่องบินขนาดเดิม หรือใกล้เคียง เพื่อให้เราประหยัดค่าอะไหล่ ค่าซ่อม และค่าเช่า ซึ่งชัดเจนแล้วว่าการบินไทยมีผลต่อเศรษฐกิจชัดเจน เนื่องจากเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา การบินไทยก็กลับมา การจ้างงานกลับมา และรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็น 12% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) สำคัญการบินไทยเป็นของพวกเราทุกคน และการบินไทยเป็นเอกชน ที่มีปฏิบัติตามกฎระเบียบที่แข่งขันตามสากล ปัจจุบันการบินไทยมีเจ้าหนี้รวม 1.3 หมื่นราย เป็นมูลหนี้แสนกว่าล้าน และได้ขอยืดจ่ายหนี้ระยะเวลา 10 ปี ตามแผนฟื้นฟูฯ หลังจากที่ทำเสร็จการบินไทยจะแข็งแรงในเรื่องของสัดส่วนการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และการทำกำไร

“สำหรับเงื่อนไขความสำเร็จของแผน คือ ต้องจดทะเบียนเพิ่มทุน ต้องไม่มีเหตุผิดนัดเจ้าหนี้ ต้องมีกำไรหลังจากหักค่าเช่าแล้วอย่างน้อย 12 ล้านบาทต่อปี และต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ หลังจากนั้นใครถือหุ้นก็มาตั้งคณะกรรมการ เหล่านี้คือว่าสำเร็จของแผน และความคืบหน้าของการบินไทย เป็นโอกาสที่เราผ่านจุดต่ำสุด ได้โอกาสกลับมาทะยานอีกครั้ง” นายชาญศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน