แอมนาสตีจี้หยุดดำเนินคดีเด็กประท้วง ซัดจนท.ติดตามข่มขู่สอดแนม

แอมนาสตีจี้หยุดดำเนินคดีเด็กประท้วง – วันที่ 8 ก.พ. องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือแอมนาสตี อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงาน “ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา” มีความยาวทั้งสิ้น 55 หน้า เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีเด็กจากการประท้วง

รายงานระบุถึงทางการไทยได้จับกุม ดำเนินคดี สอดแนมข้อมูล และข่มขู่เด็กที่ร่วมการชุมนุมประท้วงซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ พร้อมย้ำถึงสิทธิของเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย

พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก ยุติการข่มขู่และติดตามสอดแนมในทุกรูปแบบ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมสิทธิในการชุมนุมประท้วงของเด็กให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ด้านเอเอฟพีรายงานว่า เด็กไทยกว่า 200 คน ในประเทศไทย กำลังเผชิญกับข้อหาอุกฉกรรจ์ในคดีอาญา อาทิ การยุยงปลุกปั่น จากการชุมนุมประท้วงทางด้านประชาธิปไตยที่โดยส่วนใหญ่นั้นดำเนินไปอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและสถาบัน มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคนบนท้องถนนของกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงปลายปี 2563

องค์กรนิรโทษกรรมสากล กล่าวหาทางการไทยว่า “จับกุม ดำเนินคดี สอดแนมข้อมูล และข่มขู่” เด็กที่เข้าร่วมการประท้วง พร้อมเรียกร้องให้ยุติการแจ้งข้อหาดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยขององค์กรนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า เด็กที่ยังมีอนาคตอีกยาวไกลกำลังเผชิญหน้ากับผลสะท้อนที่รุนแรงจากการเข้าร่วมการประท้วงโดยสงบ

รายงานระบุว่า ปัจจุบัน มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนเกือบ 300 คน เผชิญกับข้อหาในคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกับการประท้วง ในจำนวนนี้ กว่า 200 คน กำลังถูกดำเนินคดี โดยส่วนใหญ่มีความผิดฝ่าฝืนมาตรการห้ามชุมนุมที่ประกาศใช้ช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19

และมีอย่างน้อย 17 คน ที่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นสถาบัน ซึ่งมีโทษจำคุกนาน นอกจากนี้ เอเอฟพีระบุด้วยว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีกฎหมายห้ามหมิ่นสถาบันรุนแรงที่สุดในโลก โดยมีโทษสูงสุดจำคุกถึง 15 ปีต่อข้อหา








Advertisement

รายงานระบุอีกว่า เด็กที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมระหว่างการประท้วงมีอายุน้อยสุด 11 ขวบ และอีกกรณีหนึ่งเป็นการจับกุมเด็กอายุ 12 ปี ที่เจ้าหน้าที่ใช้สายเคเบิลมัดเมื่อเดือนก.ค. 2565 ผู้วิจัยได้รับทราบข้อมูลจากเด็กๆ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม และกดดันด้วยการขอให้ผู้ปกครองและครูอาจารย์ให้คอยโน้มน้าวพวกตนไม่ให้เข้าร่วมการประท้วง

นายชนาธิป ระบุด้วยว่า นอกเหนือไปจากข้อหาจากทางการแล้ว เด็กบางคนยังเผชิญกับบทลงโทษเพิ่มขึ้นอีกจากครอบครัวของตัวเอง อาทิ การถูกขับไล่ออกจากครอบครัวเนื่องมาจากแรงกดดันของ
เจ้าหน้าที่ต่อผู้ปกครองของเด็ก โดยบางกรณีนั้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาทรุนแรง การทำร้ายร่างกาย และทำให้เด็กกลายเป็นบุคคลไร้บ้านด้วย

องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อหาต่อผู้ประท้วงอย่างสงบที่เป็นเด็ก และเปิดทางให้เด็กสามารถประท้วงได้อย่างเสรีโดยปราศจากการขัดขวางใดๆ สำหรับผู้สนใจอ่านรายงานฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับภาษาไทยและรายงานฉบับภาษาอังกฤษได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน