สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผนึก4หน่วยงาน แจงข้อกม. เอาผิด บุหรี่ไฟฟ้า หากเจอผู้สูบ-ขาย ยันตร.มีอำนาจจับกุมได้ทันที หากไม่ทำผิด ม.157

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, กรมศุลกากร, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมควบคุมโรค และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจกรณีการบังคับใช้กฎหมายกับบุหรี่ไฟฟ้าและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า การสูบ-ครอบครอง ไม่ได้นำเข้า-ผลิต-ขาย ผิดกฎหมายหรือไม่ โดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเน้นย้ำกรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ.ได้มีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย

นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ และกรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรจะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามแม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร ซึ่งสคบ. จะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้าทุกราย หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า

โดย ผู้แทนกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าผลิตมาโดยมีเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน จึงมีการโฆษณาว่าไม่อันตรายเพื่อให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่ายจนมีจำหน่ายแพร่หลายทั่วไป ซึ่งกรมควบคุมโรคยืนยันว่ามีอันตรายชัดเจน จึงต้องมีมาตรการให้รัฐบาลประกาศห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัย และความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ใดขายหรือให้บริการ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้กำชับให้มีการเร่งรัดกวาดล้างจับกุมโดยเน้นหนักไปที่ผู้ค้าผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปผู้สูบบุหรี่หรือพบว่ามีการจำหน่ายหรือครอบครอง สามารถดำเนินการจับกุมและบังคับใช้กฎหมายได้หากพบการกระทำผิดไม่ดำเนินการใดๆก็จะถือว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ และกรณีที่เข้าไปเรียกรับผลประโยชน์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน