ความคืบหน้าคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวก ตกเป็นผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นั้น เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผบก.พิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐ.) เปิดเผยผลการตรวจสอบรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ทะเบียน 7 กค 2192 กทม. ของนายเปรมชัย ว่าพบลายนิ้วมือแฝงจำนวนหนึ่ง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นของใคร ก่อนที่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมกับพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ตรวจค้นบ้านของนายเปรมชัย เพื่อขนย้ายอาวุธปืน พร้อมกระสุนขนาดต่างๆ รวมไปถึงงาช้าง จำนวน 2 คู่ 4 กิ่ง นำมาตรวจสอบว่าเป็นงาช้างชนิดใด

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.พ. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าทีมนิติวิทยาศาสตร์ สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รอง ผบช.ส. พ.ต.อ.สุวัฒน์ อินทสิทธิ์ รอง ผบก.ปทส. ร่วมกันตรวจสอบงาช้าง 2 คู่ ที่ยึดได้จากบ้านนายเปรมชัย กรรณสูต หลังถูกจับกุมขณะตั้งเต็นท์ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

พ.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ให้ตรวจสอบงาช้างที่ยึดได้จากบ้านของนายเปรมชัย 2 คู่ ว่าเป็นงาช้างแอฟริกาหรือเอเชีย โดยมีขั้นตอนตรวจสอบเริ่มจากการชั่งน้ำหนัก วัดขนาดงาช้าง จากการชั่งน้ำหนักงาช้างกิ่งแรก หนัก 13.895 กิโลกรัม ส่วนขนาดวัดความยาวโค้งนอก 146 เซนติเมตร โค้งใน 129 เซนติเมตร โคนงา 36 เซนติเมตร โคนกลาง 32.5 เซนติเมตร และปลายงา 11 เซนติเมตร จากนั้นขูดเนื้อด้านในบริเวณโคนงา เพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จึงจะทราบผลว่าเป็นงาช้างชนิดใด

สำหรับคดีขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบชิ้นเนื้อของกลาง และซากกระดูกขาเสือดำที่พบบริเวณใกล้กับเต็นท์ของนายเปรมชัย ก็จะนำมาตรวจสอบที่นี่ รวมถึงหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติมที่กำลังรอนำมาตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้ยังมาไม่ถึงบก.ปทส.

ด้านนายปิ่นสักก์ กล่าวว่า การตรวจสอบดีเอ็นเอจะเป็นการสกัดเนื้อเยื้องาช้างที่อยู่ฐานล่าง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่งาช้าง และจะดูเรื่องการลงทะเบียนด้วยว่าป็นงาช้างจากแอฟริกา เอเชีย หรืออินเดีย หากเป็นงาช้างเอเชีย และเป็นงาช้างไทย ต้องตรวจสอบว่าแจ้งลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าลงทะเบียนถูกต้องก็ไม่มีปัญหา หรือหากพบว่าตรวจสอบแล้วเป็นงาช้างป่า ก็ถือว่ามีความผิด ส่วนจะเป็นงาช้างแอฟริกาหรือเอเชียหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอผลตรวจสอบดีเอ็นเอก่อน

“จากการตรวจสอบพบว่านายเปรมชัยยื่นขอลงทะเบียนงาช้างเท่านั้น แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นงาช้างที่ยึดได้หรือไม่ ะอยู่ระหว่างตรวจสอบ จึงยังไม่มีสติกเกอร์ของกรมอุทยานฯยืนยัน ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจสอบงาช้าง กรมอุทยานฯจะมีกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (กองไซเตส) ทำหน้าที่ตรวจสอบ หากเป็นงาช้างถูกกฎหมายจะได้รับสติกเกอร์ยืนยัน

โดยล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนขอครอบครองงาช้างในไทย 4 หมื่นชิ้น หากทราบผลดีเอ็นเองาช้างที่ตรวจวันนี้ก็จะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลกับกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (กองไซเตส) เพื่อดูที่มาและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ปกติงาช้างที่สามารถครอบครองได้จะเป็นงาช้างเอเชีย หรืออินเดีย แตกต่างจากงาช้างแอฟริกาที่ไม่สามารถครอบครองได้ เนื่องจากผิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (Cites) และจะมีความผิดข้อหาครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท

ทั้งนี้ หากประเมินมูลค่างาช้าง 1 กิโลกรัม มีราคา 40,000-50,000 บาท งาช้างที่ยึดได้จากบ้านนายเปรมชัย ในส่วนที่ตรวจสอบแล้ว 1 กิ่ง มีน้ำหนัก 13.895 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 560,000 บาท ดังนั้นงาช้าง 2 คู่ ก็มีมูลค่าสูงกว่า 2,240,000 บาท”นายปิ่นสักก์ กล่าว

ขณะที่ดร.กณิตา กล่าวว่า จากการดูภายนอกยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นงาช้างแอฟริกาหรือเอเชีย เพราะงาช้างแต่ละชนิดมีขนาดไม่แน่นอน เช่น ปกติงาช้างแอฟริกามักมีขนาดใหญ่กว่างาช้างเอเชีย ก็มีความเป็นไปได้ว่างาช้างเอเชียบางตัวจะมีขนาดเท่ากันหรือใหญ่กว่าช้างแอฟริกา จึงต้องรอผลตรวจดีเอ็นเอ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบงาช้างที่ยึดจากบ้านนายเปรมชัย พบว่าเป็นงาช้างที่ผ่านการดัดแปลงโดยใช้แลคเกอร์ในการตกแต่ง และถือว่าเป็นงาช้างที่มีสภาพใหญ่และสมบูรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน