รพ.รามาฯ ออกประกาศแจ้งมาตรการรองรับรักษา “โควิด” หลังพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีลูกผสม XBB

วันที่ 16 เม.ย.2566 รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 12 เม.ย. 2566 เรื่องมาตรการรองรับ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3/2566 ส่งถึงรองคณบดีฝ่ายต่างๆ และ ผอ.รพ. ในสังกัด ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่แอดมิทใน รพ.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบมีสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น

ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองการรักษาด้วย LAAB หรือ แอนตีบอดีออกฤทธิ์ยาวซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพื่อให้การบริการผู้ป่วยมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงขอปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ดังนี้ ผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ และมีอาการไม่รุนแรงไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก รักษาตามอาการ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง

ส่วนผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ เช่น อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง Grade 2 ขึ้นไป โรคไตเรื้อรัง Stage 3 ขึ้นไป โรคหัวใจและหลอดเลือด Class 2 ขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกโดยพิจารณาให้ยาต้านไวรัสภายใน 5 วัน ดังนี้ ยา Nirmatrelvir + Ritonavir หรือยา Remdesivir

ล้น

สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีปอดอักเสบรุนแรงและมี Hypoxiaให้รักษาแบบผู้ป่วยใน และให้ยาต้านไวรัส Remdesivir ร่วมกับ Corticosteroid หรือยากลุ่มอื่นตามดุลยพินิจแพทย์ โดยให้แอดมิดที่หอผู้ป่วยตามความรุนแรง คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วย High Flow Oxygen / Respirator ให้แอดมิดที่หอผู้ป่วย SDICU95 (3 เตียง) , ผู้ป่วยที่รักษาด้วย Oxygen Cannula / Oxygen Mask ให้แอดมิทโดยใช้ห้อง AIIR ที่หอผู้ป่วย หรือห้องแยกเดี่ยวหรือห้องพิเศษอื่นๆ และกรณีของผู้ป่วย เริ่มเต็มให้พิจารณาประสานส่งต่อ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์หรือ รพ.ตามสิทธิของผู้ป่วย

ด้านรศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุเรื่องนี้ ว่า เป็นการแจ้งภายในให้แพทย์รับทราบถึงเชื้อโควิดที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เนื่องจากได้มีการประสานข้อมูลกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตลอด ทำให้ทราบว่า XBB เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า เชื้อมีความรุนแรงหรือระบาดมากขึ้นแต่อย่างใด

โดยออกมาเมื่อวันที่ 12 เม.ย. เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ก็มีการแจ้งให้หน่วยงานภายใน รพ.รับทราบถึงการรักษา อย่างช่วงสงกรานต์คนจะทำกิจกรรมกันมาก อาจมีการติดเชื้อและเข้ารักษา เราก็เตรียมพร้อม แต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาล่าสุดมีผู้เข้ารับการรักษาไม่ถึง 10 ราย เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการไม่ได้น่าห่วง สามารถรักษาได้

4

“สถานการณ์ไม่ได้แย่ เพียงแต่เราเตรียมพร้อม อย่างเดือนก่อนเราเพิ่งยกเลิกวอร์ดโควิด แต่เมื่อเข้าเทศกาลสงกรานต์ เราก็เตรียมพร้อม แต่ไม่ได้มีการตั้งวอร์ดโควิดอะไร แค่เพิ่มเตียงรองรับ” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่ รพ.รามาธิบดีไม่ใช้ LAAB และโมลนูพิราเวียร์ ในการรักษาโควิด รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า การตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ เพราะเชื้อเปลี่ยนไป จากสมัยก่อนโมลนูฯ มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ตอนนี้เชื้อเปลี่ยนไป แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ได้รุนแรงอะไร รพ.รามาฯ ยังไม่ต้องเปิดวอร์ดโควิดอีก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เหมือนไข้หวัด เพียงแต่ผู้สูงอายุ กลุ่มโรคประจำตัวบางท่านอาจมีอาการมากกว่าคนอื่น แต่เราก็มียารักษาได้

ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 ไกด์ไลน์การรักษาโควิด ยังใช้ฉบับเดิม ล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ LAAB ก็เพิ่งจะประกาศโดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์

ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยต่างๆ เช่น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สมาคมโรคติดเชื้อฯ สมาคมโรคไตฯ สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ และสมาคมรูมาติสซั่มฯ ในการประกาศเรื่อง การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ และการรักษาโควิด 19 ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เป็นต้น

ประเด็นที่ 2 ยาโมลูพิราเวียร์ หรือฟาวิพิราเวียร์ วันนี้รัฐบาลไม่ได้ซัพพอร์ตยากลุ่มนี้ รพ.รามาธิบดีไม่ได้มีการจัดหา แต่มียาตัวอื่นที่รักษาโควิดได้ อีกทั้งปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมีภูมิคุ้มกันโควิดอยู่แล้ว ซึ่งคนติดเชื้อตอนนี้อาการก็จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ การจะรักษาและการให้ยาขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์

เมื่อถามว่าบางส่วนกังวลว่า การรักษาด้วย LAAB อาจไม่มีประสิทธิภาพดีพอ นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากการประกาศของผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า LAAB ยังมีประสิทธิภาพใช้ได้อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มจำเป็นต้องใช้ เช่น คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ก็ยังต้องใช้ LAAB เพียงแต่คนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ประสิทธิภาพอาจไม่เท่ากับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลักว่า อาการตอนนั้นเป็นอย่างไร

โดยสัปดาห์หน้าผู้เชี่ยวชาญจะประชุมแนวทางการรักษาโควิดว่า จะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมจากการติดตามของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยังไม่ได้รุนแรง ผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มอย่างน่ากังวล

อ่าน โควิด เพิ่ม 2.5 เท่า ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่ม ส่วนใหญ่ติดเชื้อซ้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน