กสม. ชี้ คฝ. ใช้ความรุนแรงสกัดกั้นม็อบราษฎรหยุดเอเปค 2022 เป็นการละเมิดสิทธิ จี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งสอบหา คฝ.ที่ใช้กำลัง-เครื่องมือที่นอกกรอบปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงการวินิจฉัยของ กสม. กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้ความรุนแรงสกัดกั้นผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC 2022” ว่า กสม.ได้พิจารณากรณีที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎรหยุด APEC 2022” กับ คฝ. บริเวณถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 เป็นผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

จากการพิจารณา ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า 1.เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

โดยตามกติกา ICCPR ฉบับที่ 37 แม้ผู้ชุมนุมบางกลุ่มหรือบางราย จะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าใช้ความรุนแรง เช่น การสาดพริกและเกลือคั่วร้อนใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้ท่อนไม้ตีแขนเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติการณ์ที่แพร่หลายในที่ชุมนุม จึงไม่อาจนำไปเหมารวมได้ว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตจำนงที่จะใช้ความรุนแรง อีกทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ได้ห้ามปรามเป็นระยะ

จึงเห็นว่าการชุมนุมในภาพรวม เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วย

2.คฝ.มีการใช้กระบองและกระสุนยาง ซึ่งยิงผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บหลายราย และพบเจ้าหน้าที่ใช้วัตถุอื่นๆ ได้แก่ ขวดน้ำ ขวดแก้ว และท่อนไม้ ขว้างปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามกฎหมาย ถือว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขัดต่อบทบัญญัติพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ประกอบแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย

จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน ใช้กำลังเกินกว่าความจำเป็น เช่น การผลักจนล้มหรือการรุมเตะและชก ทั้งที่ผู้ถูกจับกุมบางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน และแม้บางรายจะแสดงอาการขัดขืนอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีอาวุธที่จะใช้ต่อต้าน จนถึงขนาดที่ผู้ถูกร้องจะต้องใช้กำลังเข้ารุมทำร้าย เป็นต้น อีกทั้ง คฝ. ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวัง ทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ มีการใช้กำลังทำร้ายและคุกคามสื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่ง พยายามขัดขวางหรือปิดบังไม่ให้รายงานข่าวโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น

ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่สื่อมวลชน อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญและ กติกา ICCPR ฉบับที่ 37








Advertisement

ดังนั้น ที่ประชุม กสม.วันที่ 29 พ.ค.66 จึงมีมติเสนอแนะมาตรการป้องกัน แก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เร่งรัดหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายที่รับผิดชอบในการออกคำสั่งและเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนโดยไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนด

ต้องติดตั้งกล้องพกพาที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวก ไม่แทรกแซงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง หรือรบกวนการชุมนุมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ควรเน้นการลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย

หากมีสถานการณ์จำเป็นต้องใช้กำลังหรือเครื่องมือในการควบคุมดูแลการชุมนุม ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีได้รับความเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ให้ ตร. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้สื่อสารและประสานงานกับผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการชุมนุมเป็นไปอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ กำชับและย้ำเตือนผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ระมัดระวังการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย งดเว้นการใช้ความรุนแรง การแสดงพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือกระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน