นักวิชาการ นักการเมือง ร่วมงาน ‘มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง’ อาจารย์ มช.บรรยายพิเศษ Book Talk: The Last Lecture: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เจาะลึกผลงาน ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.66 ที่มติชน อคาเดมี เขตจตุจักร สำนักพิมพ์มติชนร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) เปิดงาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” ครั้งแรกและครั้งสำคัญ โดยงานจะมีตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. – 3 ก.ย. 66 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ซึ่งสำนักพิมพ์รวบรวมหนังสือการเมืองมาให้ท่านผู้อ่าน เลือกสรรในราคาโปรโมชั่นพิเศษ

โดยในงานจะมีกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับหนังสือการเมือง พร้อมไฮไลท์ กิจกรรมเสวนา “นิธิแห่งทัศนะและปัญญา” เพื่อรำลึกถึง อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พร้อมทั้งรวบรวมหนังสือที่ควรค่าแก่การสะสมของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ 7 เล่ม พิเศษมาให้นักอ่าน และ “นิธิทรรศกาล” การนําชมนิทรรศการพิเศษที่รวมผลงานของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไว้มากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานวันนี้ มีประชาชนเดินทางมาเลือกซื้อหนังสือเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนเข้าร่วมฟังเสวนา “นิธิแห่งทัศนะและปัญญา” เพื่อรำลึกถึงอาจารย์นิธิ ตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการ นักเขียน และนักการเมืองมากมายเดินทางมาร่วมงาน อาทิ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายเชตวัน เตือประโคน ส.ส. พรรคก้าวไกล, นายโตมร ศุขปรีชา, นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และโฆษกกรุงเทพมหานคร








Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองที่ประทับใจคือ หนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

อีกเล่มที่คนพูดถึงเยอะอีกเล่มของอาจารย์นิธิ คือหนังสือปากไก่และใบเรือ มีเรื่องราวที่หลากหลายอยู่ในนั้น และหนังสือประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารอยุธยา แนะนำเล่มนี้สำหรับคนที่กลัวหนังสือประวัติศาสตร์ยาวๆ เพราะเล่มนี้สั้น คนที่จะเรียนประวัติศาสตร์ไทย ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ อาจารย์นิธิอธิบาย วิเคราะห์ไว้ได้อย่างดีมาก

หนังสือกับการเมืองสัมพันธ์กัน เพราะหนังสือเราต้องอ่าน เขียน เกิดการคิด เมื่อเกิดกการคิดทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ภาษาไทยยาก เมื่อเขียนได้เป็นการเมืองทั้งนั้น เราสอนหนังสือด้วยกันมากับอาจารย์นิธิ เราจะคุยกันเรื่องวิชาที่สอน แต่ส่วนใหญ่เรื่องที่คุยกันจริงๆคือ เรื่องการเมือง เพราะเรา 2 คนเจอกันก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค. สถานการณ์กำลังดุเดือด จึงคุยกันเรื่องเหล่านี้มาเสมอ

ต่อมาเวลา 13.00-14.00 น. มีเสวนาหัวข้อ Sujit’s Talk: “คนไม่ไทย” ในโซเมีย (ของนิธิ) กลายตนเป็น “คนไทย” ในเมืองไทย ต้นฉบับเล่มสุดท้ายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ จากมุมมองของ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมรับฟังด้วย

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า “คนไม่ไทย” ในโซเมีย (ของนิธิ) กลายตนเป็น “คนไทย” ในเมืองไทย เป็นการเล่าถึงโซเมีย ซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ โซเมีย หมายถึงบริเวณพื้นที่สูงของเอเชียซึ่งมีทิวเขา สลับซับซ้อนอันตั้งอยู่ในจีนใต้ เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของ โซเมียต่อเนื่องมากเชื่อมต่อกับความเป็นคนไทย เพราะเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น หากยังมีการพูดถึงคนไทยเชื่อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์

ซึ่งเรากำลังนิยามความเป็นคนไทยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เรานิยามความเป็นไทยในแง่ของเชื้อชาติบริสุทธิ์ซึ่งมันไม่มีจริง หลักฐานก็ไม่มีเลยสักอย่างเดียว ความเป็นไทยเกิดขึ้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเกิดขึ้นที่เมืองอโยธยา พูดง่ายๆ ว่าประเทศไทยทุกวันนี้ที่เรียนประวัติศาสตร์ไทยว่าความเป็นไทยมันนับหนึ่งที่กรุงสุโขทัย มีคนไทย มีภาษาไทย สิ่งที่พูดทั้งหมดนั่นนั่งเทียนเขียน ไม่มีหลักฐานเลยสักอย่างเดียว

ต่อมาเวลา 14.00-15.00 น. เสวนาหัวข้อ Book Talk: The Last Lecture: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บรรยายพิเศษวิเคราะห์ เจาะลึก ผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผ่านมุมมองของนัก ประวัติศาสตร์ร่วมพูดคุยโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ ศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ศ.สายชล สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกิดขึ้นมาเพราะอาจารย์นิธิเห็นว่า มหาวิทยาลัยทั่วไปที่เราไปสอนกัน เป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้ทุน รับใช้อุตสาหกรรม รับใช้รัฐฯ ผลิตคนไปเป็นลูกจ้าง ทำลายศักยภาพความเป็นมนุษย์ อาจารย์คิดว่าควรมีการศึกษาทางเลือกหลายๆ แบบ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นแบบหนึ่งในนั้น เที่ยงคืนคือเวลาที่อาจจะมืดที่สุด เป็นเวลาที่เรามองเห็นหรือจินตนาการถึงสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นเวลาที่เราตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราไม่เคยถามมาก่อนในเวลากลางวัน ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ และคิดว่ามันเป็นจริง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเกิดขึ้น

ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า วิธีคิดของอาจารย์นิธิคือการกระชากพรมออกจากเท้าของผู้คน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคือสิ่งที่ท่านอยากจะขยายความรู้ออกไปให้ผู้คน อยากจะขยายความรู้ออกไปสู่ชาวบ้าน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเกิดขึ้น มีเวทีพูดคุย เว็บไซต์ มีการออกแถลงการณ์ต่างๆ แล้วทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถกเถียงกัน สิ่งที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคือ เรื่องอำนาจสื่อท้องถิ่น ทุนบ้านนอก ความตายในภูมิปัญหาล้านนา คนชายขอบ วิทยาศาสตร์บ้านนอก ผี การศึกษาทางเลือก ธุรกิจข้างถนน ชาวเขาชาวเรา อาจารย์นิธินำสิ่งเรานี้มาอยู่ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพื่อเปลี่ยนชาวบ้านให้มาเป็นพลเมือง

“จากรัฐบาลนี้ไปวิธีคิดของอาจารย์นิธิ ที่จะกระชากพรมออกจากเท้าคน เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด แต่คงไม่ใช่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอีกแล้ว เป็นคนทุกคนในสังคมแทน เรากำลังจะเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม และเป็นสถานการณ์ที่ไม่ระวังจะคับขันมากสำหรับเสรีชน หวังว่าวิธีคิดวิธีทำงานและอื่นๆของอาจารย์นิธิจะไม่สลายไป จะมีพลังในสังคมเพื่อจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรากำลังเจออย่างหนักหน่วงในอนาคต ผมอยากจะพูดตรงๆ มากกว่านี้ แต่พูดได้แค่นี้” ดร.อรรถจักร์ กล่าว

จากนั้นเวลา 15.00-16.00 น. เสวนาหัวข้อ Exhibition Talk: นิธิทรรศกาล นําชมรอบพิเศษนิทรรศการที่รวมผลงานของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไว้มากที่สุด ร่วมพูดคุยโดย อพิสิทธ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อํานวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC)

และเวลา 16.00-17.00 น. เสวนาหัวข้อ Editor Talk: นิธิก่อนขึ้นแท่น(พิมพ์): เรื่องของบรรณาธิการกับงาน ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องของบรรณาธิการกับงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดคุยกับบรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นหนังสือและข้อเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมพูดคุยโดย สุพจน์ แจ้งเร็ว และสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร ดําเนินรายการโดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

ทั้งนี้ในงาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” วันที่ 3 ก.ย. วันสุดท้าย ยังคงมี กิจกรรมเสวนา “นิธิแห่งทัศนะและปัญญา” เพื่อรำลึกถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดเต็มตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 13.00-14.00 น. เสวนาหัวข้อ Charnvit’s Talk:นิธิในทรงจำ คําบอกเล่าสําคัญจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หนึ่งในนักคิด และนักประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยกับนิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมพูดคุยโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดําเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ

เวลา 14.00-15.00 น. เสวนาหัวข้อ Book Club: ทำไมต้องอ่าน นิธิ เอียวศรีวงศ์ นั่งล้อมวงคุยถึงหนังสือผลงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ คลับที่ทุกคนต้องตาสว่างจากประวัติศาสตร์ไทย ร่วมพูดคุย โดย ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล

เวลา 15.00-16.00 น. เสวนาหัวข้อ Exhibition Talk: นิธิทรรศกาล นําชมรอบพิเศษนิทรรศการที่รวมผลงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ไว้มากที่สุด ร่วมพูดคุยโดย ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล และ อพิสิทธ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อํานวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC)

เวลา 16.00-17.00 น. เสวนาหัวข้อ Special Book Talk: กว่าจะเป็นปากไก่และใบเรือ ฉบับฟ้าเดียวกัน หนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เผยทุกรายละเอียด ทุกประเด็นในหนังสือจากคําบอกเล่าของ บรรณาธิการเล่ม ร่วมพูดคุยโดย ธนาพล อิ๋วสกุล ดําเนินรายการโดย กนิษฐ์ วิเศษสิงห์ พบกับกิจกรรมเสวนาเพื่อย้อนลำลึกถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้

งานมติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง จัดตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. – 3 ก.ย. 66 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. รวบรวมหนังสือการเมืองโปรโมชั่นพิเศษและของพรีเมียมมากมายมาให้นักอ่านทุกท่านได้เลือกสรรกันอย่างจุใจที่มติชนอคาเดมี ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซอย 12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร (ข้างอาคารสำนักงานข่าวสด) มีรถตู้รับส่งบริการฟรี จากหน้าวัดเสมียนนารี ส่งมติชนอคาเดมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน