ช่อ พรรณิการ์ ขอ 3 ข้อ ผลักดันซีรีส์วาย ส่งเสริม-เคารพความหลากหลายทางเพศ ภายในงาน FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 งาน FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2 จัดขึ้นโดย FEED สื่อไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือมติชน ขนทัพนักแสดงซีรีส์วาย และศิลปิน T POP อัดแน่น พร้อมมอบความสุขให้เหล่าแฟนคลับอย่างจัดเต็ม

หนึ่งในไฮไลต์ของงานคือ การมอบรางวัลทรงคุณค่าจาก FEED เพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนซีรีส์วายไทยไปสู่ตลาดโลก ประกอบด้วย รางวัลซีรีส์ Y แห่งปี ,รางวัลนักแสดงคู่ Y แห่งปี และรางวัลผู้กำกับซีรีส์ Y แห่งปี

แต่ที่พลาดไม่ได้คงเป็น น้ำ-จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่จะมาสนทนากับผู้ชมในประเด็น “พลังของ “ซีรีส์วาย” ในสังคมวัฒนธรรมไทย และโอกาสในอุตสาหกรรมความบันเทิงโลก”

โดย ช่อ พรรณิการ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นซีรีส์วาย สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ 1.ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ 2.แรงงานกองถ่าย และ 3.บรรยากาศภาพรวม มองว่าประเทศไทย มีหลายคนพูดว่า อุตสาหกรรมซีรีส์วายเป็นสินค้า ซึ่งตนมองว่าเขาเป็นคน ไม่ควรมองเขาเป็นสินค้า เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเดียว

สำหรับตนมองว่า ควรสนับสนุนอุตสาหกรรมซีรีส์วายอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่อยากขายสินค้าอย่างเดียว แต่ควรทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าใจ ส่งเสริมและเคารพในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งต้องทำให้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เรื่องคำนำหน้านาม เรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ การแสดงออกอย่างจริงใจว่าเข้าใจจริงๆ และไม่เห็นว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นแค่สินค้า

ส่วนเรื่องแรงงานกองถ่าย มองว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ เวลาเราเห็นซีรีส์ออกมาแล้วภาพสวย สนุก ซึ่งมันเป็นเลือดและน้ำตาของแรงงานกองถ่าย ที่ทำงานนานกว่า 16-20 ชั่วโมง สวัสดิการไม่มี เป็นสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ควรอยากให้คำนึงความเติบโต ให้เกลี่ยกระจายไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย สามารถให้พวกเขารวมตัวเป็นสหภาพได้ กำหนดชั่วโมงขั้นต่ำในการทำงานได้

สุดท้ายเรื่องผลักดันผู้ประกอบการ แบ่งเป็นการส่งเสริมทางกฎหมาย เช่น ใบขออนุญาต การส่งเสริมเรื่องงบประมาณ ควรจะมีการส่งเสริมจากรัฐบาล ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ ไม่ใช่ว่าซีรีส์ของเขาจะโด่งดังเลย แต่เกิดจากการผลักดัน งบอัดฉีดของรัฐบาลด้วย แตกต่างจากประเทศไทยที่พูดว่าซอฟต์พาวเวอร์ แต่ให้งบประมาณเพียงแค่ 500 ล้านบาท








Advertisement

ดังนั้นควรตั้งงบประมาณส่งเสริมผู้กำกับหน้าใหม่ ส่งเสริมคนทำหนัง ให้คนทำหนังหน้าใหม่ให้ลืมตาอ้าปากได้ และเรื่องกฎหมายที่มีความโบราณมากๆ มีการต้องขออนุญาตมากมาย ต่างประเทศ มาขอถ่ายภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ประเทศไทย แต่กลับมีการข้ออนุญาตที่ยุ่งยาก จึงอยากให้ปรับเปลี่ยนเรื่องนี้

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน