หลัง ครม.เห็นชอบลดราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร มากสุดในกลุ่มเบนซิน นักวิชาการชี้กระทบห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน เผยคนส่วนใหญ่เติมแก๊สโซฮอล์ 95 เกษตรกรปลูกอ้อย-มัน-โรงงานผลิตเอทานอล-สิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้อง E20, E85 กระทบมากสุด ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น ขัดเป้าหมายความยั่งยืน ESG ของประเทศ แนะควรมีแนวทางปรับลดทุกประเภทน้ำมันทั้งระบบให้เท่ากัน เพื่อครอบคลุมการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประชาชนทุกกลุ่ม

นับว่าเรื่องการเติมน้ำมันหากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากทุกสภาพสภาวะเศรษฐกิจทุกบ้านต้องวางแผนเรื่องการประหยัด เรื่องใดประหยัดได้ก็ต้องประหยัด โดยเฉพาะการเติมน้ำมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้จ่ายเกือบทุกวันสำหรับบ้านที่มียานพาหนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การติดตามราคาน้ำมันรายวัน หรือบางบ้านรายชั่วโมง เห็นช่วงไหนน้ำมันประเภทไหนราคาลงต้องวางแผนทันที ก็จะเป็นภาพที่สถานีเติมน้ำมันหลายแห่งคิวยาวในช่วงเวลาที่ราคาลง ซึ่งประเด็นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบลดราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 7 พ.ย. 2566 ซึ่งปรับราคาลงมากสุดในกลุ่มน้ำมันเบนซิน

โดย ครม.จะปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงในอัตรา 1 บาทต่อลิตร และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะบริหารจัดการเพิ่มเติมในอัตรา 1.50 บาทต่อลิตร รวมเป็น 2.50 บาทต่อลิตร ลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 ลงในอัตราประมาณ 1 บาทต่อลิตร ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์อื่นๆ ดังนี้ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ภาษีจัดเก็บลดลงประมาณ 90 สตางค์ต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ลดลงประมาณ 80 สตางค์ต่อลิตร

นายธิบดี หาญประเสริฐ กรรมการบริหารสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และ ดร.ธีรภัทร ศรีนรคุตร อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรปรับลดราคาน้ำมันลงไปลิตรละ 2.50 บาท ให้เท่ากันทุกประเภท เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่ม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของประเทศเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งมีปริมาณการใช้ประมาณ 16-18 ล้านลิตรต่อวัน และไม่สามารถเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ได้ ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้ประมาณ 6 ล้านลิตรต่อวัน ใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20 ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 มีปริมาณการใช้ประมาณ 210,000 ลิตรต่อวัน โดยน้ำมันที่มีปริมาณการใช้น้อยที่สุดคือ น้ำมันเบนซิน 95

ที่สำคัญคือเมื่อราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงไปแทบไม่ต่างจากน้ำมันชนิดอื่น คนก็อาจจะหันไปเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 กันมากขึ้น แม้จะในระยะเวลาเพียง 3 เดือน แต่อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน โดยเฉพาะภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่รถไม่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ได้ และภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20, E85 ตั้งแต่ต้นน้ำ เกษตรกร โรงงานรับซื้อไปแปรรูปเป็นเอทานอล ไปจนถึงการปลดปล่อยมลภาวะจากกระบวนการผลิตที่เอทานอลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เนื่องจากเป็นพลังงานที่ได้จากวัตถุดิบทางการเกษตร

น้ำมันชนิดที่ปล่อยของเสียออกมามากกว่า

ควรเสียภาษีสรรพสามิตมากกว่า

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก “น้ำมันเบนซิน” และ “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” กันก่อน

น้ำมันเบนซิน (Gasoline) หมายถึง น้ำมันเบนซินเพียวๆ ที่ไม่มีการผสมเอทานอล โดยในประเทศไทยมีค่าออกเทน 91 และ 95 ให้เลือก แต่ในปัจจุบันน้ำมันเบนซิน 91 ถูกยกเลิกการจำหน่ายไปแล้ว

ส่วน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (Gasohol) หมายถึง น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอล (Ethanol) ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง มีสัดส่วนขึ้นอยู่กับน้ำมันแต่ละประเภท ได้แก่ E10 (น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95) มีสัดส่วนผสมระหว่าง Ethanol และ Gasoline อยู่ที่ 10:90, น้ำมัน E20 มีสัดส่วนอยู่ที่ 20:80 และ E85 มีสัดส่วนอยู่ที่ 85:15

หากดูจากสัดส่วนข้างต้นแล้วจะเห็นได้ชัดว่า น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91, 95 มีปริมาณการปล่อยของเสียออกมามากกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20, E85 ซึ่งมีส่วนทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

ดร.ธีรภัทร ศรีนรคุตร อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ปกติแล้วน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ถือเป็นสินค้าเกรดพรีเมียม เมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซิน เนื่องจากน้ำมันเบนซินที่เติมในรถยนต์ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะเผาไหม้ไม่หมด ขณะที่เอทานอลนั้น ปกติปฏิกิริยาการเผาไหม้จะได้เป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) มีน้ำและความร้อนเกิดขึ้น แต่ถ้าเผาน้ำมันเบนซินซึ่งเผาไหม้ไม่หมด มันจะมีแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ออกมา อีกส่วนหนึ่งคือพวกสารแอลดีไฮด์ (aldehyde) ซึ่งทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์และแอลดีไฮด์เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ

ดร.ธีรภัทร ศรีนรคุตร อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ

“สารพวกนี้ที่ออกมา เราจะสังเกตได้จากท่อไอเสีย ซึ่งจะออกมาในรูปของควันและเขม่า เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้เอทานอล 100% ส่วนที่ออกมาจากท่อไอเสียจะมีเฉพาะไอน้ำเท่านั้น จะไม่มีพวกกลุ่มสารพิษออกมาเลย ซึ่งเครื่องยนต์ที่ใช้เอทานอลได้ 100% จะพบเห็นได้ในประเทศบราซิล เรียกว่า FFV ย่อมาจากคำว่า Flexible Fuel Vehicle ก็คือเป็นรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบยืดหยุ่น หมายความว่ามันสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ที่มีส่วนผสมเอทานอลตั้งแต่ 0-100% ได้ แต่บ้านเรายังไม่ได้นำเข้ามาใช้ น่าจะยังมีข้อติดขัดบางประการ ในส่วนนี้ก็จะเห็นได้ว่า น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91 มันปล่อยของเสียออกมามากกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20 ดังนั้น น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91 ก็ควรจะต้องเสียภาษีมากกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ด้าน นายธิบดี หาญประเสริฐ กรรมการบริหารสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า รถที่เติมน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20 ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ค่าไอเสียจะต่ำกว่าตัวปกติ (น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91, 95) มาก

ยอดรถจดทะเบียนสะสม สิ้นปี 2565 แยกตามประเภทรถ

“เมื่อช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2566 เรามีรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ E20 ได้โดยที่บริษัทแม่รับรองถึง 21.6 ล้านคัน ในขณะที่มอเตอร์ไซค์จดทะเบียนทั่วประเทศมี 22.2 ล้านคัน เรียกว่ารถมอเตอร์ไซค์เกือบจะทั้งหมดแล้วที่ใช้ E20 ได้ รู้ไหมว่าควันเสียที่ออกจากมอเตอร์ไซค์ที่เป็นควันขาว มันอันตรายกว่าควันดำของรถเมล์ ควันขาวที่มาจากท่อมอเตอร์ไซค์ มะเร็งทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราเติม E20 เข้าไป ค่าของสิ่งแวดล้อมไอเสียจะดีกว่ากันมาก และถ้าลดราคาแล้วน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91 มีราคาใกล้เคียงกับน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20 หากคนหันไปเติมน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91 มากขึ้น ค่าไอเสียในสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งพุ่งขึ้นตามมาด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน”

นโยบายขัดต่อหลักการวิชาการ

กระทบห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน (Demand – Supply)

ดร.ธีรภัทร ได้กล่าวถึงนโยบายการลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลงมากที่สุดในกลุ่มเบนซินต่อว่า

“คือถ้ารัฐบาลลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลงมาลิตรละ 2.50 บาท ก็จะทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 มาก เพราะเดิมทีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 จะถูกกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ประมาณ 2 บาท ตรงนี้ก็จะไปกระทบกับกลุ่มคนที่รักษ์โลก ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ ก็อาจจะเปลี่ยนใจมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ได้ เพราะราคามันถูกกว่า ซึ่งก็จะไปกระทบกับอุปทานของห่วงโซ่เอทานอลทั้งระบบเลย ตั้งแต่เกษตรกร ไปยันโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศไทยที่มี 27 โรงงาน เขาอาจต้องปรับลดการผลิตเอทานอลลง เกษตรกรก็จะขายผลผลิตได้น้อยตามไปด้วย

“ประเด็นที่ผมอยากเสนอแนะก็คือ ถ้ารัฐบาลจะลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินเพื่อจะลดค่าครองชีพให้ประชาชน ขอเสนอว่าให้พิจารณาลดในราคา 2.50 บาทลงทั้งระบบ เพื่อจะได้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และอยากให้เน้นเป็นพิเศษกับน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ซึ่งผลิตจากผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งมันตรงกับบริบทของประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าเราใช้แก๊สโซฮอล์มาก มันก็จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งเราสูญเสียเงินตราต่างประเทศปีนึงๆ เป็นล้านๆ บาท แล้วยังช่วยเกษตรกร เพราะมันไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต ช่วยรักษาระดับราคาของพืชผลการเกษตรที่ผันผวนอยู่ตลอด รวมทั้งตัวเอทานอลที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ทำเป็นแก๊สโซฮอล์ก็จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนลง นำมาซึ่งอุบัติภัยมากมาย เช่น น้ำท่วม, สึนามิ, แห้งแล้ง, โรคอุบัติใหม่ เช่น ไข้หวัดนก, โรคซาส์ เป็นต้น”

อย่าทิ้งเกษตรกร

โปรยทานให้ทั่ว อย่ากำมือใส่ให้บางกลุ่ม

นายธิบดี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มียอดขายเฉลี่ย 6 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 มียอดขายใกล้เคียงกัน แต่ E20 ใช้เอทานอลเป็น 2 เท่าของ E10 (แก๊สโซฮอล์ 91) ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และที่สำคัญคือ “เกษตรกร” ที่จะสามารถรักษาระดับของผลผลิตไว้ได้

นายธิบดี หาญประเสริฐ กรรมการบริหารสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

“โปรยทานให้ทั่ว อย่ากำมือใส่ให้บางกลุ่ม เพราะดูจากตัวเลขที่ทีมงานของหน่วยงานรัฐได้รวบรวมไว้จะพบว่า มีรถจำนวนมากเติมแก๊สโซฮอล์ 91 ไม่ได้ ในขณะที่มอเตอร์ไซค์ใช้ E20 ได้ถึง 21.6 ล้านคัน เกือบจะทั้งระบบของมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียน 22.2 ล้านคัน รวมทั้งเรื่องผลผลิตของเกษตรกรที่กำลังจะออกมา ทั้งการผลิตอ้อย, น้ำตาล มันจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนา-เมษา ซึ่งเกษตรกรที่ผลิตอ้อยมี 480,000 ครัวเรือน อีก 580,000 ครัวเรือนปลูกมันสำปะหลัง ปัจจุบันปริมาณการใช้เอทานอลลดลงจาก 4.5 ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 3.4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ภาครัฐเลิกการสนับสนุน E85 และจะลดลงไปอีกเพราะรัฐออกนโยบายลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 มากที่สุดในกลุ่มเบนซิน รัฐจะเอาอะไรไปบอกให้เกษตรกรเลิกปลูกอ้อยปลูกมัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนี้เขาก็ไปไกลแล้ว

“อยากฝากรัฐบาลช่วยพิจารณาใหม่ เพราะสถานีบริการ E20 นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีถึง 5,675 แห่ง รวมทั้งโรงงานที่ผลิตเอทานอล ซึ่งอาจจะลดการผลิตลง ก็กระทบเกษตรกรด้วย ผมคิดว่าการที่ให้ E20 ได้ปรับราคาลดลง 2.50 บาท เท่ากับที่ท่านลดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มันจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจน จะช่วยเรื่องอุตสาหกรรมเอทานอลที่จะค่อยๆ ลำบาก เพราะรถไฟฟ้าที่รัฐบาลส่งเสริมมันจะเริ่มเข้ามาแทรก อีกไม่นานจะเข้ามาถึง 30% นั่นหมายถึงปริมาณการขายน้ำมันจะค่อยๆ ลดลง ไม่ได้สูงขึ้นแน่นอน เพราะหันไปใช้ไฟฟ้า การที่พยุงเข้าไปโดยใช้วิธีโปรโมตด้วยวิธีนี้ จะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลยังรักษาระดับที่เงยหัวขึ้นได้บ้าง” นายธิบดี กล่าว

ทั้งนี้ นักวิชาการทั้งสองท่านยังได้กล่าวถึงผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ที่มักจะเน้นเติมน้ำมันที่ถูกกว่าเป็นหลัก ซึ่งอาจยังไม่ทราบว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 มีค่าออกเทน 95 กลุ่มที่ชอบรถที่มีความแรง E20 ก็ไม่ขี้เหร่ ยิ่ง E85 มีออกเทนสูง ไม่ต่ำกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95

“เดิมทีรัฐบาลเคยวางแผนให้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน พอมีรัฐบาลใหม่ท่านก็คงอยากช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงเวลาไม่นาน แต่ก็อยากให้พิจารณาลดราคาให้เท่ากัน ครอบคลุมในทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์” ดร.ธีรภัทร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน