ชัชชาติ สั่งเช็ก 371 ไซต์งาน เผยรถคันเกิดเหตุ เคยบรรทุกหนักเกินถึง 61 ตัน เตรียมดึงระบบวัดน้ำหนัก Bridge Weight Motion มาใช้ คาดได้ผลสรุปภายในสองเดือนนี้

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.66 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงความคืบหน้าเหตุรถสิบล้อบรรทุกดินทรุดลงไปในบ่อพักท่อร้อยสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง บริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 ซึ่งคล้ายคลึงกับเหตุที่ราชปรารภว่า

สาเหตุน่าจะมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ คุณภาพของการก่อสร้าง และรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ตามกฎหมายทางหลวง รถบรรทุกสิบล้อสามารถบรรทุกได้ 25 ตัน แต่รถคันที่เกิดเหตุคำนวณจากสายตา บรรทุกเกินถึง 45 ตัน ซึ่งต้องรอการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สำหรับมาตรการความปลอดภัย กทม.จะควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก กับมาตรฐานการก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่อยู่ระหว่างทำฐานราก การไฟฟ้านครหลวงมีการทำท่อสายไฟลงดิน กทม.มีบ่อบำบัดน้ำเสียและการทำไปบ์แจ๊คกิ้ง โดยบ่ายนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือย้ำเรื่องนี้ โดยเฉพาะโครงสร้างชั่วคราว ฝาบ่อที่ไม่ได้ปิดถาวร ซึ่งประชาชนร้องเรียนมามากในช่วงถนนพระราม 3

สำหรับน้ำหนักรถบรรทุก เป็นความรับผิดชอบของ กทม.ร่วมกับตำรวจ ปัจจุบันพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้ทางหลวงท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ซึ่ง กทม.จะเป็นผู้ออกกำหนดน้ำหนักรถบรรทุกตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

โดยทั่วไปการกำหนดน้ำหนักรถบรรทุกต้องเป็นเหมือนกันทุกท้องถิ่น แต่การบังคับใช้ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะส่วนใหญ่ด่านชั่งน้ำหนักอยู่ในทางหลวงชนบท โดยหลังจากนี้ กทม.จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจมีอำนาจในการจับกุม ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีเพื่อฟ้องศาลต่อไป โดยผู้กระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า กทม.อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุก เรียกว่าระบบ Bridge Weight Motion ซึ่งจากการตรวจสอบในระบบดังกล่าวพบว่า รถบรรทุกคันที่เกิดเหตุ บรรทุกน้ำหนัก 61 ตันเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา อนาคตอาจใช้ระบบนี้บันทึกข้อมูลรถบรรทุกเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี คาดว่าจะสรุปผลวิจัยได้ภายใน 2 เดือนนี้ หลังจากนั้นจะใช้งบประมาณกลางในการจัดซื้อ ก่อนที่จะกระจายติดตั้งทั่ว กทม.ประมาณ 10 จุด

มาตรการระยะสั้น กทม.จะจับมือกับกรมทางหลวงนำเครื่องชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่มาติดตั้งที่สะพานใน กทม. หลังจากนั้นเราจะจัดหาเอง เบื้องต้นเมื่อเช้านี้สั่งการให้ตรวจสอบวัดน้ำหนัก 371 ไซต์ก่อสร้างที่มีการขุดดิน ส่วนใหญ่เป็นไซต์ของทางราชการ เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมาที่ได้รับการว่าจ้างต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานด้วย ขณะที่งานก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าทั่ว กทม. 879 แห่งต้องตรวจสอบด้วยเช่นกัน








Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เมื่อวานนี้ตนได้พบกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หารือถึงการกำกับดูแล โดยเน้นย้ำ 2 เรื่อง คือรถบรรทุกต้องไม่บรรทุกเกินและวิ่งตามกำหนดเวลา หลังจากนี้จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย และเย็นนี้หากได้เครื่องชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่จากกรมทางหลวงเพิ่มมาอีก 1 เครื่องก็จะไปสุ่มตรวจในไซต์งาน อาจจะจับได้สัก 1-2 ราย

ส่วนการดำเนินการกับรถคันดังกล่าว วันนี้จะมีการชั่งน้ำหนักดิน โดยทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อวานนี้ที่ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ เนื่องจากล้อรถแตก ผิดรูป เคลื่อนที่ไม่ได้ ตามระเบียบของกรมทางหลวงจะต้องให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้แล้ววิ่งขึ้นมาบนเครื่องชั่งน้ำหนัก จึงต้องรอให้มีการเปลี่ยนล้อให้เรียบร้อย เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะบันทึกและส่งข้อมูล พร้อมนำตัวคนขับและรถส่งให้กับตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับเรื่องสติกเกอร์ดาวสีเขียว ตัวอักษร B ที่ติดอยู่หน้ารถนั้นเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน เนื่องจาก กทม.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ทำได้แค่ตรวจว่ามีผ้าคลุมหรือดินตกหล่นหรือไม่ ส่วนกรณีที่โซเซียลสงสัยว่าสำนักงานเขตจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักและจับกุม ทั้งนี้ได้กำชับไปที่สำนักงานเขต ขอให้ตรวจสอบไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่ด้วย กรณีพบรถบรรทุกน้ำหนักเกินออกมาจากไซต์งาน อาจมีโทษถึงขั้นสั่งให้หยุดการก่อสร้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน