ดีเอสไอรวบ 2 พ่อลูก นายทุนหมูเถื่อนข้ามชาติรายใหญ่ คาสนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางมาจากอเมริกา ติดต่อขอมอบตัว สอบความเชื่อมโยง เร่งประสานปปง. จ่อยึดทรัพย์

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 14 พ.ย.2566 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่สืบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ควบคุมตัว นายวิรัช อายุ 69 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด และนายธนกฤต อายุ 42 ปี สองพ่อลูก กลุ่มนายทุนผู้สั่งการให้มีการนำเข้าหมูเถื่อน จำนวน 33 ตู้คอนเทนเนอร์ เข้าไทย

หลังถูกออกหมายจับในข้อหาหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร, และนำเข้า ส่งออกสัตว์ หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยทั้งสองได้ประสานเข้ามอบตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังเดินทางจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ผ่านมา และดีเอสไอได้ไปรอรับตัวก่อนคุมตัวมาสอบปากคำขยายผล

สำหรับพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ได้มีการว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทนำเข้าเอกชนนำเข้าซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 33 ตู้คอนเทนเนอร์ เข้ามาในไทย ซึ่งมีการจับกุมดำเนินคดีกับกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทนำเข้าดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ จากนั้นดีเอสไอได้ขยายผลจนพบว่านายทุนตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังเป็น 2 พ่อลูก โดยคนเป็นพ่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและลูกชายที่เป็นผู้ดำเนินการเรื่องต่างๆ แทนผู้เป็นพ่อ ถือว่าร่วมกันกระทำความผิด

พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ภายหลังรับตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่รายละเอียดในการสอบปากคำยังไม่ขอเปิดเผย แต่คงไม่สามารถปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้ เนื่องจากเป็นผู้สั่งหมูเถื่อนผ่านบริษัท ชิปปิ้ง แต่สิ่งที่จะต้องสอบปากคำคือ ต้องสอบให้ได้ว่าสั่งหมูมาจากที่ใด และส่งมอบหมูไปยังที่ใดบ้าง รายละเอียดกลไกการสั่งหมู รวมถึงต้องชี้แจงของกลาง ที่ยึดมาจากห้องเย็นที่ จ.สมุทรสาครให้ได้อีกด้วย

เจ้าหน้าที่จะสอบโดยละเอียดเพื่อการขยายผลไปยังส่วนอื่น เพราะพบความเกี่ยวข้องของผู้ต้องหากับห้องเย็นของเอกชนอีก 3-4 แห่ง รวมถึงที่จ.สมุทรสาครอีก 3-4 แห่งด้วย จากข้อมูลพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เมื่อสั่งให้บริษัทชิปปิ้ง มีการส่งหมูเถื่อนที่นำเข้ามาจากเยอรมนี บราซิล ไปยังศูนย์กระจายสินค้าแบบขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ของประเทศ

เมื่อถามว่าจะต้องไปอายัดสินค้าหรือไม่ พ.ต.ต.สุริยา บอกว่า ผู้ต้องหามีการนำเข้าหมูเถื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 และได้ รับเป็นคดีพิเศษปี 2566 หมูลอตแรกๆ ถูกกระจายไปสู่ผู้บริโภคหมดแล้ว จะติดตามก็ทำยากมีเพียงที่ยังค้างสตอกไม่กี่ลอตเท่านั้น ที่อายัดกลับมาได้








Advertisement

ส่วนประเด็นที่นายกฯ ได้สอบถามที่สนามบินสุวรรณภูมิ ว่าเหตุใดถึงยังไม่ยึดทรัพย์นายทุนหมูเถื่อน พ.ต.ต.สุริยา ชี้แจงว่า ได้ประสานไปยัง ปปง.แล้ว คดีดังกล่าว เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร และ พ.ร.บ.โรคระบาด ซึ่ง ปปง.ยึดทรัพย์ได้ และก่อนหน้าที่จะจับกุมกลุ่มนายทุนได้ ทางดีเอสไอได้ประสาน ปปง. เรื่องเส้นทางการเงินและการยึดทรัพย์แล้ว ทาง ปปง.ก็รับเรื่องดังกล่าวไว้ คาดว่าจะเริ่มยึดทรัพย์ภายในเดือนนี้

ส่วนทรัพย์สินทั้งหมดคาดว่าอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มูลค่าหลักร้อยล้าน นอกจากนี้เชื่อว่ายังมีนายทุนแบบผู้ต้องหาอีกหลายเจ้า รวมถึงต้องตรวจสอบเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่ร่วมขบวนการ

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า ส่วนหมายจับตอนนี้ในกลุ่ม 1 กลุ่มชิปปิ้ง มีหมายจับแล้ว 10 หมาย จับไปแล้ว 6 คน กำลังติดตามตัวอยู่อีก 4 คน ซึ่งยังหลบหนีอยู่ในประเทศ ส่วนกลุ่มนายทุนจับผู้ต้องหาตามหมายจับได้อีก 2 คน ที่ประสานมาวันนี้ รวมมีผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับทั้งหมด 12 คน จับได้แล้ว 8 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้จ้างวานนำเข้าและห้องเย็นอีกอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานขยายผล.

เบื้องต้น ได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาสองพ่อลูก ฐานโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นและนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน