เมื่อวันที่ 4 มี.ค. น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า โรงงานยาสูบเตรียมเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขอกู้เงินมาใช้ดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1.ใช้ในการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานยาสูบแห่งใหม่ในปีนี้ ประมาณ 2,900 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมด 7,000 ล้านบาท และ 2.ใช้เสริมสภาพคล่องที่จะเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อสรุปวงเงินกู้และความจำเป็นในการใช้เงิน

“เป็นครั้งแรกที่โรงงานยาสูบต้องขอกู้เงิน โดยให้กระทรวงการคลังมาช่วยค้ำประกันให้ เป็นผลกระทบจากภาษียาสูบใหม่ ทำให้โรงงานยาสูบไม่มีกำไร จากเดิมที่มีสภาพคล่องเพิ่มเข้ามาเดือนละ 4,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ไม่มีเข้ามาเลย และเหลือสภาพคล่องไม่ถึง 5,000 ล้านบาทพอใช้ถึง พ.ค.นี้ เท่านั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปวงเงินกู้ คาดว่าจะเป็นหลักพันล้านบาท”นางสาวดาวน้อยกล่าว

ทั้งนี้ จากการปรับปรุงแก้ไขภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่ตั้งแต่เดือน ก.ย.2560 ที่ผ่านมา ทำให้โรงงานยาสูบแม้จะขายได้ ก็เป็นการขายที่ไม่มีกำไร เพราะเจอปัญหาต้นทุนการผลิตสูงและการดัมพ์ราคาจากคู่แข่ง โดยส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้ เหลือ 56% จากที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 80% จำนวนผลิตลดลงเหลือ 18,000 ล้านมวน จากเดิมที่คาดว่าจะผลิต 30,000 ล้านมวน ทำให้นอกจากไม่มีกำไรแล้ว ยังเป็นปีแรกที่โรงงานยาสูบอาจจะเผชิญ ภาวะขาดทุน เนื่องจากยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตใบยา โรงพยาบาล และอื่นๆ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี

น.ส.น้อย กล่าวว่า จากปัญหารการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ทำให้โรงงานยาสูบต้องปรับปรุงแผนธุรกิจ เช่นการออกสินค้าใหม่ หรือการหารายได้จากช่องทางอื่น ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ คาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้ยาสูบเปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินการได้ 3 เรื่อง คือ 1.สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ขายในประเทศ เช่นบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย 2.สามารถผลิตสินค้าตัวใหม่ไปขายในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่โรงงานยาสูบมีคู้ค้าสัญญากับ บริษัท BJC เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย และ 3.รับจ้างผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ มีผู้สนใจจากต่างประเทศหลายรายว่าจ้างโรงงานผลิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน