ชลน่าน รับ แม่ลูกกรมวิทย์ฯ โกงเงินหลวง เป็นจุดบอดของระบบ ชี้โทษสูงสุด ‘ไล่ออก’ พร้อมสังคายนาปรับแก้ เรื่องจัดซื้อจัดจ้างแต่ละกรมกอง

วันที่ 8 ธ.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้าราชการระดับ 7 สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับลูกสาวและลูกเขย ทุจริตปลอมแปลงเอกสารและเบิกจ่ายทิพย์ ความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท ว่า ตนได้รับรายงานจาก นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามข่าวที่นำเสนอกัน ขั้นตอนจะเป็นไปตามกฎหมาย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองท่านเดิมได้รับแจ้งจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ว่า มีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ ก็ให้ความใส่ใจและทำงานเรื่องนี้ติดต่อเรื่อยมา จนส่งต่อให้อธิบดีคนใหม่ เริ่มทำงานร่วมกับ ป.ป.ท. ที่ตรวจสอบว่า ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อธิบดีท่านใหม่ทราบเรื่องก็สั่งย้ายคนที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งนั้นไว้ก่อน และมีการไต่สวนสอบสวนจนกระทั่งได้ข้อมูลที่ชัด ก็ให้ ป.ป.ท.เข้ามาดำเนินการตามกฎหมายอาญาแล้วฟ้องไป

ถามว่าการทุจริตดังกล่าวที่ทำมานาน อาจไม่ได้ดำเนินการเพียง 2 คน ต้องมีการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า แม้ระบบที่เราวางไว้ มีระบบตรวจสอบภายใน ตรวจเช็กทุกขั้นตอน ยังหลุดรอดได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำต่อไปคือการสังคายนาทั้งระบบ เรื่องจัดซื้อจัดจ้างแต่ละกรมกอง ว่ามีรูรั่วตรงไหนอย่างไร มีสัญญาณอะไร เพราะการทุจริตประเภทนี้ทำได้เนียนมาก

“สมมติจัดซื้อ 700 รายการ 10 รายการ แฝงอยู่ตรงนั้น 20 โครงการ แฝงอยู่ตรงนี้ เราก็ไม่รู้ อันนี้อาจจะต้องไปปรับวิธีการตรวจสอบ วิธีการเฝ้าระวังทุกระดับ ผมและปลัด สธ.คุยกันแล้วว่าเราคงต้องมาสังคายนามาปรับรื้อกันใหม่ วิธีที่จะควบคุมตรวจสอบภายใน หน่วยงานที่มีหน้าที่อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างจะเข้าไปตรวจสอบอย่างไร ตรวจสอบผลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร โดยดำเนินการทุกกรมใน สธ.” นพ.ชลน่านกล่าว

แม่ลูกกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถูกจับกรณีทุจริต

ถามถึงกรณีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือต้องมีการเรียกคืนเงินหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องตรวจสอบว่ามีการนำเงินของหลวงไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ ถ้าพบผิดประเภทก็ต้องเรียกคืน ของหลวงนี่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ถ้ามีหลักฐานชัดก็ต้องนำมาคืนหลวงให้ได้

ถามต่อจากนี้จะมีการลงโทษอย่างไร ถึงขั้นให้ออกเลยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องว่าไปตามกฎหมาย คือ ความผิดทางอาญาก็ว่าไปอยู่ศาลทุจริต ส่วนเราก็มาดูทางวินัย ซึ่งจะรีบเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ ก็สอดรับการร้องการฟ้องที่ ป.ป.ท.ด้วย อย่างวันนี้ก็เป็นต่อต้านทุจริตโลก นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่เราเองมีวิกฤตเกิดขึ้นก็ต้องใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินการทางวินัยข้าราชการ ตามปกติจะตั้งคณะกรรการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลตามข้อกล่าวหาก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งโทษทางวินัยราชการจะมี 2 ระดับ คือ โทษวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน และโทษวินัยร้ายแรง คือ มีการปลดออก และไล่ออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน