สปสช. เคาะงบ 60 ล้านบาท เพิ่มสิทธิ หุ่นยนต์ผ่าตัดมะเร็ง เตรียมเสนอ ประกันสังคม-กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมด้วย เผย แม่นยำ-ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนการผ่าตัด

วันที่ 27 ธ.ค.2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

มีมติรับทราบแนวทางดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์และอนุมัติการใช้งบประมาณจำนวน 60 ล้านบาท สำหรับบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวน 600 ราย

สปสช. เคาะงบ 60 ล้านบาท เพิ่มสิทธิ หุ่นยนต์ผ่าตัดมะเร็ง เตรียมเสนอ ประกันสังคม-กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมด้วย

สปสช. เคาะงบ 60 ล้านบาท เพิ่มสิทธิ หุ่นยนต์ผ่าตัดมะเร็ง เตรียมเสนอ ประกันสังคม-กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพด้านบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน โดยมุ่งยกระดับบริการภายใต้ “30 บาทอัพเกรด” เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในวันนี้บอร์ด สปสช. ได้มีมติรับทราบแนวทางดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า โดยนำร่องให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่คาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 500 ราย 2.มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ในกลุ่ม CA rectum, CA Anal Canal จำนวน 50 ราย และ 3.มะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี โดยเริ่มในบริการ Whipple Operation จำนวน 50 ราย

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า รวมผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการทั้งหมด จำนวน 600 ราย ประมาณการค่าใช้จ่ายชุดอุปกรณ์ในการผ่าตัดหุ่นยนต์ประมาณ 100,000 บาทต่อราย รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งหมดจำนวน 60 ล้านบาท








Advertisement

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า โดยหน่วยบริการที่จะร่วมให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในระบบบัตรทอง จะต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS : Minimal Invasive Surgery) ที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการอื่นตามที่ สปสช. กำหนด ส่วนหน่วยบริการภาครัฐ 7 แห่ง ที่ให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์อยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถให้บริการต่อเนื่อง และถือว่าผ่านการประเมินแล้ว

“การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีความแม่นยำในการผ่าตัด โดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น มีระยะเวลาในการฟื้นตัวเร็วขึ้นทำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง รวมทั้งลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้ผ่าตัด ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการและความปลอดภัยในการผ่าตัดให้กับประชาชน สิทธิประโยชน์นี้จึงนับเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง” นพ.ชลน่านกล่าว

 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน สปสช. ได้มีมติเห็นชอบการเพิ่มรายการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็กเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2565 และได้มีผลการบริการตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นมา

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ต่อมาในการประชุมคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุด สปสช. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2566 ได้เห็นชอบข้อเสนอบริการการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่มข้างต้น เพื่อเป็นบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ควรสนับสนุนเพื่อสร้างความเป็นเลิศขั้นสูงสุดของไทย โดยมอบให้ สปสช. นำเข้ากระบวนการบริการ MIS และรายงานต่อคณะทำงานเพื่อทราบผลการดำเนินการ

“สปสช. ได้ร่วมกับคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) และการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักพัฒนาโรคร่วมไทย หารือแนวทางการให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ให้สอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน และนำมาสู่มติรับทราบของบอร์ด สปสช. ในวันนี้ โดยในขั้นต่อไป สปสช. จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเงื่อนไข ข้อบ่งชี้ อัตราจ่าย และแนวทางการติดตามประเมินผลต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน