มื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานมอบรางวัล “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์”

พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรเครือข่าย น.ส.พ. ที่ทำประโยชน์ต่อองค์กรวิชาชีพและเพื่อการศึกษา, มอบโล่ผู้สนับสนุนสมาคม และแถลงข่าวการจัดประกวดรางวัล “พาดหัวข่าวสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2567” มี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภาเป็นประธาน

ซึ่งมีบุคคลในแวดวงสื่อมวลชนทยอยเดินทางเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีกรรมการบริหารสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ นำโดย นายนคร วีระประวัติ นายกสมาคม คอยต้อนรับ

เวลา 14.00 น. มีการฉายวีดิทัศน์ประวัติความเป็นมาของสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2484 มีพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นนายกสมาคมคนแรก มีที่ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

จากนั้นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงาน ระบุถึงแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูกิจการของสมาคมในด้านต่างๆ อาทิ บูรณะซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม รวมถึงปรับภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบ อีกทั้งเตรียมปรับปรุงพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ และปรับปรุงห้องสมุดชิน โสภณพนิช เป็นต้น

ต่อมา เป็นการแนะนำกรรมการบริหารสมาคมชุดปัจจุบัน (2566-2569) และนายธานินทร์ อินทรเทพ ศิลปินชื่อดัง ขับร้องบทเพลง ‘คนหนังสือพิมพ์’ ผลงานการประพันธ์ของ นายพยงค์ มุกดา เมื่อปี 2505

ขรรค์ชัย บุนปาน

 

เวลา 14.20 น. เข้าสู่พิธีการมอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัล “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” ได้แก่ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส น.ส.พ.ไทยรัฐ

จากนั้น มอบรางวัลแก่ 5 องค์กรวิชาชีพและเพื่อการศึกษา ได้แก่ 1.มูลนิธิไทยรัฐ 2.มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล (เครือเดลินิวส์) 3.มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ 4.มูลนิธิอิศรา อมันตกุล และ 5.มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์

นายชวนกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล และปาฐกถาความตอนหนึ่งว่าขอชื่นชมสมาคมที่จัดงานนี้ขึ้นและมอบรางวัล “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” เป็นครั้งแรก ตนเคารพในความเป็นคนหนังสือพิมพ์ของนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส น.ส.พ.ไทยรัฐ ซึ่งตนรู้จักทั้ง 2 ท่านเป็นการส่วนตัว โดยนายมานิจเป็นเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เห็นบทบาทกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น ขณะที่นายขรรค์ชัยเป็นรุ่นน้องมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งตนยังเคยเขียนเรื่องสั้น “เย็นลมป่า” ลงในน.ส.พ.ของนายขรรค์ชัย ผู้ซึ่งมีบทบาทการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อมวลชนในหลายเรื่อง

“ผมเป็นสักขีพยานว่าทั้ง 2 ท่านควรได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่ง น้อยคนที่จะยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้ ต้องขอแสดงความยินดีอีกครั้ง” นายชวนระบุ

ด้านนายขรรค์ชัยกล่าวว่า ขอขอบคุณสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ที่ให้เกียรติ ตนมีความศรัทธาในการเป็น ‘นักหนังสือพิมพ์’ ตั้งแต่เป็นนักข่าวครั้งแรกในช่วงปลายปี 2513 ไม่เคยมีอาชีพอื่น วันนี้ขอเป็นผู้แทนของทุกคนในเครือมติชนในการรับมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ด้านนายมานิจกล่าวว่า รางวัลนี้คือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ในฐานะคนทำงาน ไม่ได้คาดหวังถึงการยกย่อง แต่ถือเป็นกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นสมาคมเก่าแก่อย่างมาก

“รางวัลนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนทำหนังสือพิมพ์อาชีพ ผมทำงานหนังสือพิมพ์มากว่าค่อนชีวิต สิ่งที่ภูมิใจคือร่วมต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อที่ประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน สำหรับการใช้วิจารณญาณในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต และการเมือง ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพเสนอข่าวด้านเดียว ประชาชนก็จะมีข้อมูลเพียงด้านเดียว” นายมานิจกล่าว

สำหรับนายขรรค์ชัย เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2487 จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความสนใจในงานสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมตั้งแต่วัยเยาว์ ส่งผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

ในช่วงปลายปี 2513 นายขรรค์ชัยทิ้งเงินเดือนเครือเซ็นทรัล เข้าทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รับเงินเดือน 1,000 บาท

ต่อมากลับถูกไล่ออกพร้อมนายสุจิตต์ วงษ์เทศ และนายเสถียร จันทิมาธร เนื่องจากติดร่างแหข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้นายขรรค์ชัยตัดสินใจดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์ของตนเอง โดยมองว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่นักข่าวขณะนั้นไม่รู้กระบวนการบริหารจัดการหนังสือพิมพ์ทั้งระบบ จึงเริ่มจากการเปิดโรงพิมพ์พิฆเณศย่านแพร่งสรรพศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2515 รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด

ระหว่างนั้น นายกำพล วัชรพล ให้คนมาชักชวนนายขรรค์ชัยไปเขียนข่าวสังคมหน้า 4 ไทยรัฐ นายขรรค์ชัยจึงหันไปทำงานประจำที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ใช้นามปากกา “หวานเย็น” พร้อมๆ กับงานโรงพิมพ์พิฆเณศ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นายขรรค์ชัยได้เข้าเฝ้า พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณฯ” เพื่อทูลขอหัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ”

จากนั้น วันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 “ประชาชาติรายสัปดาห์” ก็วางแผงครั้งแรก ก่อนขยับขยายเป็น “ประชาชาติรายวัน”, ‘รวมประชาชาติรายวัน’ และ “ประชาชาติธุรกิจ” ในปัจจุบัน

ต่อมา ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” โดยเป็นบรรณาธิการคนแรก วางแผงฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ.2521 ราคา 1 บาท 50 สตางค์ มี 8 หน้า

เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ.2532 ขณะที่ นายขรรค์ชัยมีอายุเพียง 45 ปี ปัจจุบัน ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 47 ภายใต้สโลแกน “หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ”

นายขรรค์ชัย ยังก่อตั้ง “มติชนสุดสัปดาห์” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เมื่อพ.ศ.2523 โดยเป็นบรรณาธิการคนแรก

ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หัวสี เมื่อพ.ศ.2534 ภายใต้สโลแกน “ครบทุกรส สดทุกเรื่อง” เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้อ่านในบทบาท “หมาเฝ้าบ้าน” ติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ความเป็นไปในสังคมอย่างเจาะลึก ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนแบบกัดไม่ปล่อย

รวมถึงนิตยสารต่างๆ ในเครือ ทั้งฉบับพิมพ์และออนไลน์ ได้แก่ มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม, เส้นทางเศรษฐี และเทคโนโลยีชาวบ้าน รวมถึงสำนักพิมพ์มติชน

กว่า 50 ปีบนเส้นทาง “คนหนังสือพิมพ์” นายขรรค์ชัย สร้างผลงานมากมาย จาก “นักข่าว” ลงพื้นที่ภาคสนามสู่ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ขับเคลื่อนสังคมมาจนถึงปัจจุบัน, เป็น “บรรณาธิการ” ที่บุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในวงการสื่อ, เป็น “คอลัมนิสต์” ที่มีมากกว่า 10 นามปากกา อาทิ หวานเย็น, บุญมือ ชนบท และสองคม ชอบสามเหลี่ยม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลงานรวมเล่ม อาทิ ชานหมากนอกกระโถน, เศรษฐศาสตร์ข้างถนน, หนี, นานาสังวาส, ใบลานหลังธรรมาสน์, ประดับไว้ในโลกา, ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว, กลีบเกษรหอมหวาน แต่วานนี้ เป็นต้น

มีผลงาน “นิราศ” บทกวีคู่กับนายสุจิตต์ เป็นผลงานพิมพ์ ครั้งแรกในชีวิตเมื่อ พ.ศ.2507 และเล่มล่าสุด “ข้างขึ้นข้างแรม” เมื่อ พ.ศ.2565 รวมโคลงของนายขรรค์ชัยและกลอนของนาย สุจิตต์จากหน้า 3 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ ระหว่างเดือนมกราคม 2559 ถึงพฤษภาคม 2565

ถือเป็นการกลับมาของ ‘สองกุมารสยาม’ ซึ่งเป็นฉายาที่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ตั้งให้ทั้งคู่เมื่อครั้งยังหนุ่ม

ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ ช่อการะเกดเกียรติยศ เมื่อ พ.ศ.2548 ในปีเดียวกัน ยังได้รับรางวัลเกียรติคุณพิเศษ 100 ปี ศรีบูรพา สาขานักหนังสือพิมพ์ เนื่องในการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ.2566 รวมถึงศิษย์เก่าเกียรติยศ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

ในวัย 79 ปี นายขรรค์ชัยยังคงมีผลงานโคลงวิพากษ์สังคมการเมือง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ รวมถึงปรากฏตัวในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ทุกวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์-โบราณคดีเข้าสู่ปีที่ 8 ในปี 2567 โดยได้รับความนิยมอย่างมาก

นายขรรค์ชัยนำพาเครือมติชนฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ นานัปการ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การดิสรัปต์ด้านเทคโนโลยีในยุคเปลี่ยนผ่านจากกระดาษสู่ออนไลน์ ก้าวผ่านวิกฤตนานัปการอย่างภาคภูมิ ด้วยจุดยืนที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน ยังยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตย ไม่หวั่นไหวแม้อยู่ท่ามกลางความเห็นต่าง โดยเน้นย้ำว่า “ในวันที่โลกเปลี่ยน มติชนยังมีทางสายเดียว คือต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่”

อันเป็น “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” อย่างแท้จริง!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน