ดีเอสไอ เผย ศาลอาญาพิพากษา จำคุก 335 ปี แก๊งโกงบัตรเครดิต ตระเวนหลอกลวงทำสัญญาจะซื้อจะขาย-เช่าโรงแรม อพาร์ตเมนต์ ทำธนาคารสูญเงินกว่า 11 ล้านบาท

วันที่ 29 ม.ค.2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่คำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1164/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3042/2566 ลงวันที่ 17 ต.ค.2566 กรณีพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัทแห่งหนึ่ง กับพวก รวม 6 คน ในคดีความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ฉ้อโกง และความผิดต่อพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

สืบเนื่องจากได้มีผู้แทนของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อดีเอสไอให้ทำการสืบสวนสอบสวน กรณีธนาคารตรวจสอบพบว่า ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.2557 มีกลุ่มชาวต่างชาติร่วมกับคนไทยนำสัญญาจะซื้อจะขายโรงแรมในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด, อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, จ.กระบี่, จ.กาญจนบุรี และเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ

รวมทั้งสัญญาเช่าโรงแรม อพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวนหลายแห่ง มายื่นขอใช้เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ กับธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย รวม 6 ธนาคาร และขอเปิดใช้บริการระบบการทำธุรกรรมแบบออฟไลน์

อาศัยช่องว่างของระบบการชำระเงินผ่านทางเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำรายการธุรกรรมแบบออฟไลน์ ด้วยการนำบัตรเครดิตของธนาคารต่างประเทศ จำนวน 29 ใบ มาทำธุรกรรมผ่านเครื่องรูดบัตรดังกล่าวโดยข้ามขั้นตอนการขอกันวงเงินกับธนาคารต่างประเทศเจ้าของบัตร

และหลอกลวงนำรหัสอ้างอิงการชำระเงินที่เป็นเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารเจ้าของเครื่องรูดบัตรจำนวนหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งหนึ่งหลงเชื่อโอนเงินให้กับกลุ่มคนร้าย จำนวน 16 ล้านบาทเศษ

แต่ภายหลังตรวจสอบพบสามารถอายัดเงินได้บางส่วน ยังคงได้รับความเสียหาย 11,633,101 บาท ส่วนธนาคารอื่น ๆ ส่วนใหญ่พบความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบอันเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้อื่นได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้

เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด ฐานฉ้อโกง รวมทั้งความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 107/2558 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ได้ทำการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยได้ส่งสรุปสำนวนคดีพิเศษให้แก่พนักงานอัยการและมีความเห็นควรสั่งฟ้องกลุ่มผู้ต้องหาและพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญาแล้ว

ต่อมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/7 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 9, 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 91

ฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบ อันเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้อื่นได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยจำเลยมีความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ให้จำคุกอดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จำนวน 335 ปี 264 เดือน

ให้จำคุกอดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 4 จำนวน 105 ปี 132 เดือน และให้จำคุกอดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 6 จำนวน 105 ปี 132 เดือน

โดยคงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และอดีตกรรมการบริษัท ชดใช้เงินคืนแก่ธนาคาร จำนวน 11,633,101 บาท

ดีเอสไอจึงขอแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยว โรงแรม บริษัท ห้างร้าน หรือประชาชน ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจใช้ช่องทางการซื้อ ขายกิจการ หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งไม่มีการซื้อ ขายจริง

โดยอ้างว่ารัฐบาลได้สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้กลโกงต่าง ๆ เช่น หลอกให้โอนเงินค่ามัดจำหรือค่าจองล่วงหน้าก่อน หลอกให้ร่วมลงทุนในกิจการท่องเที่ยวที่ไม่น่าเชื่อถือ หลอกให้ทำธุรกรรมทางการเงิน (โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารปลอม) เป็นต้น

จึงควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนทำธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หากหลงเชื่อหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด อาจได้รับโทษตามกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน