ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย พิธา- ก้าวไกล ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สั่งเลิกการกระทำ หาเสียงแก้ม.112

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติ และจัดทำคำวินิจฉัยในคดี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และศาลจะต้องสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าวหรือไม่

ต่อมาเวลา 14.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยมีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้อง มาฟังคำวินิจฉัย ขณะที่นายพิธาและพรรคก้าวไกล ไม่ได้มาฟัง

คดีนี้ ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัย คือ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การตรากฎหมายหรือพ.ร.บ.เป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อใช้ปฏิบัติทั่วไป ให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบสุข ต้องมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและเป็นธรรม ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการตรากฎหมาย ซึ่งจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ และเมื่อผ่านสภาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีความชอบตรวจสอบร่างกฎหมายได้ ตามมาตรา 49

ทั้งนี้ กฎหมายคุ้มครองมิให้มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ส่งผลหรือบั่นทอนการทำลายพื้นฐานของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เสื่อมทรามหรือสิ้นสลายไป ซึ่งพระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ในฐานะเคารพสักการะ ละเมิดมิได้

ดังนั้น แม้การเสนอร่างกฎหมาย แก้ไข 112 จะเป็นหน้าที่ของสส. ผ่านกระบวนการตามนิติบัญญัติมาตรา 133 และร่างกฎหมายไม่ได้รับการบรรจุในวาระสภา เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้ดำเนินการโดย สส.พรรคก้าวไกล ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว และผู้ถูกร้องทั้งสอง ยอมรับต่อศาลว่าเสนอกกต.เพื่อใช้เป็นนโยบายรรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นการทั่วไป 2566 และปัจจุบันยังเป็นนโยบายแก้ไขมาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล








Advertisement

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้จะไม่มีร่างแก้ไขว่าจะแก้ไขในประเด็นใด แต่ตามเว็บไซต์ของผู้ถูกร้อง กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ทำนองเดียวกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ที่ยื่นต่อประธานสภา

ดังนั้น ถือได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไข ที่ยื่นต่อประธานสภา อีกทั้งเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ทั้งสองเสนอ เป็นพฤติการณ์แสดงออกว่าต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงโดยผ่านร่างกฎหมาย สร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นผ่านกระบวนการรัฐสภา

ผู้ถูกร้อง ยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงเสนอแนวคิดดังกล่าวให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนไม่รู้เจตนาที่แท้จริง อาจหลงตามความคิดเห็นผ่านตามเสนอร่างกฏหมาย และนโยบายพรรค ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญ 3/2562 ว่าสาระสำคัญของการเป็นหลักการขั้นพื้นฐานการปกครองของไทย ระบุไว้ในความพระราชหัตถเลขา เมื่อปี 2547 ว่า พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง ไม่เข้าไปแข่งขันทางการเมืองอาจนำมาซึ่งการถูกติติง

ดังปรากฏในคำวินิจศาลว่าพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย อยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง

ดังนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอแก้ 112 เพื่อลดสถานะของพระมหากษัตริย์ เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้นโยบายนำพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียง เพื่อชนะเลือกตั้ง มุ่งหมายให้ พระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียนขัดหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การที่ผู้ถูกร้องเสนอแก้ไขเพิ่มเติมม.112 และใช้เป็นการนโยบายพรรค มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ชำรุด ทรุดโทรมเสื่อมทราม นำไปสู่การล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องจึงฟังไม่ขึ้น

การที่ผู้ถูกร้องยุยงปลุกปั่นให้ยกเลิกม.112 ทำให้มีกลุ่มยืนหยุดขัง กลุ่มบุคคลเป็นสมาชิกพรรคจัดชุมนุมยกเลิก 112 มีพฤติการณ์ให้ยกเลิก 112 โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว มีพฤติกรรมเป็นนายประกันให้ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1 กก.บห. สส.ในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 มีหลายคนกระทำผิดตาม ม.112 ได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว น.ส.รักชนก ศรีนอก

การเข้าร่วมชุมนุมหรือเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหาคดี 112 หรือเป็นผู้ต้องหา 112 ถือว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่มีเจตนาทำลายล้างพระมหากษัตริย์เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ศาลได้วางบรรทัดฐานว่า พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง การกระทำใดๆ ทำให้สถาบันสูญเสียสถาบันการเป็นกลางทางการเมือง เป็นการเซาะกร่อน เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

แม้ผู้ถูกร้องแย้งว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพก็ตาม แต่ต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อความสงบ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอการแก้ไขกฎหมาย

แม้เหตุกาณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาดำเนินการต่อเนื่อง เป็นขบวนการ ใช้หลายอย่างประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การเสนอร่าง การใช้เป็นนโยบายหาเสียง
หากปล่อยให้ทำต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุการณ์ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ส่วนวรรคสอง ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเลิกการกระทำดังกล่าว

วินิจฉัยว่า ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการกระทำ พูด คิดเห็น พิมพ์โฆษณา หรือสื่อทางอื่นเพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 และไม่ให้แก้ไข112 โดยไม่ใช้วิธีการโดยชอบ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขอให้ตระหนักว่าการวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสีหรืออาฆาตมาดร้ายจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา38 วรรคท้าย มีโทษตักเตือน จำคุก ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน