กรมควบคุมโรค เปิดโทษสาว สูบบุหรี่ไฟฟ้า บนเครื่องบิน ผิด 2 กระทง เจอปรับอ่วม ระบุ คนรอบข้างที่สูดดมควัน เสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกับควันบุหรี่มือสอง

วันที่ 11 เม.ย.2567 นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ภาพและคลิปของผู้หญิงรายหนึ่ง สูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะนั่งโดยสารอยู่บนเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งเดินทางจากจ.เชียงราย

โดยก่อให้เกิดประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารรอบข้าง

นพ.นิติ กล่าวว่า ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมและป้องกันเด็ก เยาวชนและประชาชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

  1. ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557
  2. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า”
  3. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร พ.ศ.2560 ในมาตรา 242 ว่าด้วยการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และมาตรา 246 ว่าด้วยการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร
  4. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ในมาตรา 42 ว่าด้วยการสูบบุหรี่ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่

ดังนั้นกรณีนี้เป็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินจัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ.2561

ผู้สูบจึงเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

นพ.นิติกล่าวต่อว่า นอกจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความผิดตามกฎหมายข้างต้นแล้ว ยังมีความผิดตาม พ.ร.บว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 อีกด้วย โดยห้ามสูบบุหรี่ในอากาศยานระหว่างการบิน ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท








Advertisement

และหากการกระทำนั้นก่อให้เกิดการขัดข้องแก่อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอากาศยาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบินในกรณีที่เป็นข่าวนี้ จึงมีความผิดตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อันได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

“ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท จึงใช้กฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดลงโทษ แก่ผู้กระทำความผิด นั่นคือ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ารายนี้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท” นพ.นิติ กล่าว

ด้าน นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดไอระเหยที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างด้วย เนื่องจากในควันหรือไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า มีสารเคมีและสารปรุงแต่ง ประมาณ 7,000 ชนิด

นพ.ชยนันท์ กล่าวต่อว่า ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 10 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น บุคคลรอบข้างที่สูดดมเอาควันหรือไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน