นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมวันที่ 28 มี.ค เห็นชอบมาตรกาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับผู้ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดปลั๊กอิน จากที่จัดเก็บภาษีในอัตรา 10% ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหลือเพียง 5% แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ จะลดภาษีลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น

อุตตม สาวนายน

“มาตรการที่ออกมาครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้มีค่ายรถยนต์ประมาณ 2-3 ค่าย สนใจเข้ามาลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ในช่วง 3-5 ปี ส่วนจะมีรถยนต์ไฟฟ้าออกมาได้มากแค่ไหนนั้น ได้มีการประเมินว่า ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ หากประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ออกมาได้ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีอยู่ประมาณ 20,000-30,000 คัน ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า”นายอุตตม กล่าว

สำหรับมาตรการส่งเสริมครั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 6 มาตรการใหญ่ มาตรการแรกเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน โดยนอกจากกระทรวงการคลังจะลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อกระตุ้นการผลิต ซึ่งผู้ลงทุนต้องขออนุมัติโครงการผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้สูงสุด 10 ปี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่

ทั้งนี้ผู้ขอรับการส่งเสริมต้องเสนอแผนงานรวมมาให้บีโอไอ ทั้งการประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และระบบคบคุมการขับขี่ แผนการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนในประเทศ ขณะที่กรมศุลกากร ยังออกประกาศยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป เพื่อทดลองตลาด เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี เช่นเดียวกับกระทรวงพาริชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกันผลักดันการเปิดเจรจากับจีน เพื่อกำหนดอัตราอากรนำเข้าที่เหมาะสมกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนต่อไป

มาตรการต่อมาเป็นการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ซึ่งสำนักงบประมาณ พร้อมสนับสุนนงบประมาณให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ได้ 20% ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่หน่วยงานจัดซื้อ ด้านกระทรวงคมนาคม จะจัดทำแผนเช่ารถยนต์ ด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ มาใช้เป็นรถยนต์บริการของสนามบิน (ลีมูซีน) เพิ่มขึ้น ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้งานในพื้นที่ปลอดมลพิษ ภายในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

ด้านกระทรวงพลังงาน ศึกษาความเป็นไปได้ให้นำรถแท็กซี่ มาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกับการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะพิจารณานำรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาให้บริการในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงการอนุรักษืสิ่งแวดล้อมในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

 

ต่อมาเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะร่วมกันศึกษาแผนการติดตั้งสถานีอัดประจำไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมาย และถนนหลัก จำนวน 43 สถานี ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งทำศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่จ.ฉะเชิงเทราให้เสร็จในเดือนมี.ค.61 และหาเครื่องมืออุปกรณ์ และเตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับการทดสอบรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีมาตรการจัดทำมาตรการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปจัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบถ้วน ทั้ง ระบบการประจุไฟฟ้าของรถไฟฟ้า ความเข้ากันได้ทางแมเหล็กไฟฟ้า แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมิเตอร์กระแสตรงเพื่อใช้ในการจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งมาตรการบริการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะไปบริหารและจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว รวมทั้งทำแผนบริหารและกำจัดซากแบตเตอรี่รถยนต์ ส่วนกรมควบคุมมลพิษจะไปกำหนดผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไว้ในพ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อื่นๆ และมาตรการสุดท้ายสถาบันยานยนต์ จะไปพัฒนาระบบรับรองความสามารถบุคลากรอย่างต่อเนื่อง 5 ปี

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่าการยกเว้นภาษีต่างๆ เพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไฮบริด (Hybrid) และปลั๊กอิน ไฮบริด (Plugin Hybrid) รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ชุดคอนโทรล ระบบแอร์ ว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทยด้านการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทยให้ทันกับประเทศคู่แข่ง อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่หันมาส่งเสริมรูปแบบการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคตเช่นกัน

นายศุภรัตน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฮบริดของไทยมีเพียง 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมด 40% เท่านั้น ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคตจะได้รับสนใจเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ราคารถยนต์ไฮบริดกับรถยนต์ธรรมดา จะแตกต่างกันไม่เกิน 100,000 บาท จากปัจจุบันที่ 200,000-300,000 แสนบาท ขณะเดียวกันคาดว่าแต่ละค่ายรถยนต์จะมีการออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขายกินส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง

“ต้องขอขอบคุณรัฐบาลเป็นอย่างมากที่มีนโยบายส่งเสริมโครงการดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยที่ดี และเป็นการก้าวนำคู่แข่งต่างประเทศเชื่อว่าในอนาคตหากลูกค้ามีความมั่นใจก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดการใช้น้ำมันลงได้”นายศุภรัตน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน