ส่องแนวคิดผู้บริหารค่ายรถยนต์ – ปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กลายเป็นปีที่ หนักหนาสาหัสอีกปีของตลาดรถยนต์ในบ้านเรา เนื่องจากแต่เดิมเมื่อผ่านพ้นปี 2563 ที่กระอักไปด้วยพิษโควิด-19 ทำให้แทบทุกค่ายประเมินตรงกันว่า ปี 2564 คงไม่แย่ไปกว่าเดิม

แต่ที่ไหนได้เปิดปี 2564 มาได้ไม่เท่าไหร่ เมืองไทยเจอโควิด ระบาดหนักกว่าเดิมจนต้อง ล็อกดาวน์ถึง 2 รอบ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างมาก พลอยทำให้ตลาดรถยนต์หดตัวหนักกว่าปี 2563 ด้วยซ้ำ

ส่วน ‘ปีเสือ’ นี้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ไปฟังความ คิดเห็นของบรรดาผู้บริหารค่ายรถยนต์กัน

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดในปี 2564 ที่ผ่านมา เดิมคาดการณ์ว่า จะมียอดขาย 850,000 คัน แต่หลังจากที่มีการล็อกดาวน์ 2 ระลอก เดือนเม.ย. และส.ค. ทำให้ถึงสิ้นปีมีการทบทวนตัวเลขใหม่ เป็นไม่ถึง 800,000 คัน

จริงๆ ความต้องการใช้งานรถยนต์ยังคงมีอยู่ แต่ด้วยเพราะตลาดยังช็อก ส่วนในปี 2565 นี้ แม้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นปัจจัยที่น่ากังวล แต่ด้วยเพราะการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนได้รับวัคซีนพอสมควร ช่วยสร้างความเชื่อมั่น

ขณะที่ปัญหาเซมิคอน ดักเตอร์ที่ขาดแคลน เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว หวังว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้ จะเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ มองว่าตลาดรวมรถยนต์ใน ปี 2565 ควรเติบโตกว่าปี ที่แล้ว

“สำหรับโตโยต้า ในปี 2565 นี้ วาระครบรอบปี ที่ 60 ในการดำเนินธุรกิจ ในประเทศไทย เตรียมกิจกรรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าไว้หลากหลายกิจกรรม พร้อมทั้งเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ปรับปรุงการดูแลลูกค้าให้เข้าถึง และตรงจุด รวมถึงสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกค้า”

นายทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุ เซลส์ จำกัด กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของลูกค้าจากนี้ไป มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีความมั่นใจ ทำให้ไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย

มั่นใจว่าในปี 2565 นี้ ตลาดรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มียอดขายอยู่ประมาณ 770,000 คัน แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเติบโตเป็นเท่าใด เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างที่ยังต้องเฝ้าจับตามอง อย่างใกล้ชิด ทั้งเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ รวมถึงการขาดแคลนของเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังส่งผลอยู่

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกที่ทำให้มีโอกาสเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัว จำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก และยังมีในเรื่องส่งออกที่คาดว่า จะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

ขณะที่ นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหารบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าผลจากโควิด-19 ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องปรับตัวในการทำตลาด และสื่อสารกับลูกค้า ด้วยการหันไปเพิ่มสัดส่วนออนไลน์ให้ มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด

สำหรับตลาดรวมรถยนต์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทำให้ในปีนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายเร่งผลิตและขายเพื่อชดเชยตัวเลขที่หายไป มองว่าในปี 2565 นี้ ตลาดรวมรถยนต์มีโอกาสเติบโตขึ้นไป 800,000 คัน++ หรืออาจไปได้ถึง 850,000 คัน

ที่ผ่านมามาสด้าสร้างแพลตฟอร์มสื่อสารกับลูกค้าในทุกช่องทางออนไลน์ อบรมตัวแทนจำหน่าย นำออนไลน์มาใช้ทำการตลาดในพื้นที่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 10% ที่มาจากออนไลน์ ขณะที่ในบางพื้นที่มีมากกว่า 40% ถือว่ามาถูกทางแล้ว

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ตลาดรถยนต์ในปี 2565 มีทิศทางดีขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศ เพราะเชื่อว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2564 แต่โควิด-19 ยังมีผลกระทบอยู่บ้าง

มองว่ายอดขายรวมรถยนต์ปี 2565 เติบโตแน่นอน เพราะ ที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากตกต่ำแล้ว ตลาดรถยนต์ จะเด้งขึ้นค่อนข้างแรง ปกติจะสูงกว่าจีดีพีหนึ่งเท่าตัว เช่นปี 2565 หากจีดีพีโต 2-3% ตลาดรวมรถยนต์จะโต 5-6% แต่มองว่ามีโอกาสเติบโตไปได้ถึง 10% แต่จะเป็นการเติบโตแบบ ค่อยเป็นค่อยไป

“เอ็มจีมีความพร้อม และไม่รอว่าตลาดจะดีหรือร้าย การทำตลาดทั้งรถยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่มีเข้ามาเปิดตัวเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 รุ่น เพราะมองว่ามีแนวโน้มดีขึ้น อุปสรรคต่างๆ ได้รับการแก้ไข ทำให้ลูกค้าคนไทยหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้า 100% เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ส่วน นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า จากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ดูได้จากการปล่อย สินเชื่อของสถาบันการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น รวมถึงบรรยากาศ การจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมา

นอกจากนี้การแข่งของค่ายรถยนต์ ทั้งการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และการออกแคมเปญโปรโมชั่น กระตุ้นความต้องการของลูกค้า มั่นใจว่าตลาดรวมรถยนต์ในปี 2565 จะเติบโตขึ้นกว่าปี 2564 ที่ทำไว้ได้ประมาณ 750,000-760,000 คัน อย่างแน่นอน

มองว่ามีโอกาสไปได้ถึง 800,000 คัน หรือเติบโตขึ้น 5% และเป็นตัวเลขที่กลับไปเท่ากับปี 2563

ปิดท้ายที่ นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์โดยรวมในปีนี้ มองว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 10% อยู่ที่ 860,000-870,000 คัน เพราะมีโมเมนตัมต่อเนื่องมาจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว หลังจากการ คลายล็อกดาวน์ ประชาชนสามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์ ที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องจับตาเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 ว่าจะมีผล กระทบรุนแรงหรือไม่

ล่าสุดฟอร์ดใช้งบประมาณ 28,000 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 270,000 คันต่อปี โดย 60% เป็นการส่งออกทำให้เกิดการจ้างงานเฉพาะของฟอร์ดเองเพิ่มขึ้นอีก 1,000 อัตรา

เมื่อรวมตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ฟอร์ดได้ใช้เงินลงทุนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท ยืนยันได้ว่า ฟอร์ดเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาวะเศรษฐกิจ และตลาดรวมรถยนต์ประเทศไทย และพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน