ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผมในฐานะตัวแทน‘ข่าวสด’ และเครือมติชน เป็นหนึ่งในสมาชิกร่วมทริปเดินทางไปเยือนเมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของจีเอซี ไอออน(GAC Aion)

จีเอซี ไอออน เป็นแบรนด์รถยนต์บริษัทลูกของ‘Guangzhou Automobile Group Co., Ltd.’(GAC Group) หรือกว่างโจว ออโตโมบิล ซึ่งเพิ่งเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยด้วยรถยนต์รุ่นแรก ‘AION Y Plus’

ทีมผู้บริหาร GAC Group

ล่าสุดมีโปรโมชั่นเด็ดหั่นราคาลง 1 แสนบาท ทำให้รุ่นเริ่มต้นราคา 969,900 บาท จำกัด 1,000 คันแรกเท่านั้น

เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไอออนจึงเชิญสื่อมวลชนไทยราวๆ 30 ชีวิต บินไปเยี่ยมชมบริษัทแม่และโรงงานอัจฉริยะ ที่เมืองกว่างโจว ทางตอนใต้ของจีน ห่างจากไทยไม่มากใช้เวลาบินประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

‘GAC Group’ แบรนด์ยักษ์จากจีน

ข้อมูลแรกที่ผมรับรู้จนแทบตกเก้าอี้คือ‘GAC Group’ ในปี 2565 ขายรถยนต์ในเครือทั้งหมดมากถึง 2.4 ล้านคัน รายได้ราวๆ 2.5 ล้านล้านบาท รายได้ขนาดนี้พอๆ กับรายได้รวมของประเทศไทย ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยมีรายได้จากภาษี และอื่นๆ ประมาณ 2.53 ล้านล้านบาท

ขณะที่ครึ่งแรกของของปี 2566 ‘GAC Group’ กวาดยอดขายกว่า 2.3 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท








Advertisement

‘GAC Group’ ยังเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอันดับที่ 165 ในกลุ่ม‘Fortune Global 500’ จากการจัดอันดับบริษัทชั้นนำระดับโลกของนิตยสาร Fortune จะว่าไป‘GAC Group’ ถือว่าอายุยังไม่มากนัก 20 กว่าปีเท่านั้น แต่ทะยานไกลขนาดนี้ถือว่าไม่ธรรมดา

ส่วนหนึ่งไม่พ้นเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะแบบ‘A.I.’(Artificial Intelligence) ช่วยการทำงาน

‘ไอออน’รถไฟฟ้าอันดับ 3 ของโลก

ขณะที่ไอออน ยิ่งน่าทึ่งเพราะก่อตั้งเมื่อปี 2017 ใช้เวลาไม่นานผงาดขึ้นเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 3 ของโลก นับเฉพาะ 5 ปีหลัง มีอัตราเติบโตระดับ 120% อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2565 ไอออน มียอดขาย 271,200 คัน รายได้ 3.87 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท จนในปี 2566 บุกเข้าตลาดไทยเป็นประเทศแรกในโลก มีแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกด้วย โดยคาดว่าจะเปิดสายพานการผลิตอย่างเป็นทางการ ช่วงกลางปี 2567 งานนี้บอกเลยว่าไอออน ไม่ได้มาเล่นๆ

ยิ่งเมื่อได้รับเชิญไปชมโรงงานอัจฉริยะ รวมถึงศูนย์อาร์แอนด์ดี(R&D) หรือฝ่ายออกแบบวิจัยและพัฒนา ของ‘GAC Group’ ไม่แปลกใจกับความสำเร็จด้านธุรกิจยานยนต์ของเครือนี้ โดยไอออน ถือเป็นบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นเอง เน้นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมีแบรนด์ย่อยคือ‘Hyper’ เน้นรถไฟฟ้าตัวแรง อารมณ์สปอร์ต

ส่วนอีกแบรนด์ของ‘GAC Group’ คือ‘TrumpChi’ ผลิตและจำหน่ายรถเครื่องยนต์ลูกผสม ‘GAC Group’ ยังร่วมทุนตั้งบริษัทกับค่ายรถจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า และฮอนด้า เพื่อเจาะตลาดจีนอีกด้วย

Hyper‘SSR’เก๋งสปอร์ตไฟฟ้าแรงเดือด

ทริปนี้มี‘นายเฉิน วาน’ ผู้อำนวยการธุรกิจระหว่างประเทศ ‘GAC Group’ และ‘นายหรรษา แซ่ซึ้ง’ ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสประจำประเทศไทย คอยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ตลอดทริป

จุดแรกที่ไปเยือนคือโรงงานอัจฉริยะ พอเข้าไปที่โถงต้อนรับต้องละลานตากับรถยนต์หลากหลายรุ่นที่มานำโชว์ แน่นอนว่าไม่พลาดกับ‘AION Y Plus’ ที่มาเปิดตัวในบ้านเราไปแล้ว จอดข้างๆ กันเป็น‘AION V Plus’ เอสยูวีตัวบิ๊กเบิ้ม สวยงามตามท้องเรื่องแถมมีเทคโนโลยีล้ำสมัยอัดมาแน่นคัน แว่วว่าคนไทยอาจได้สัมผัสกันในเร็วๆ นี้

แต่ที่ผมยกเป็นไฮไลต์ต้องให้กับแบรนด์‘Hyper’ ที่เป็นรถไฟฟ้าสปอร์ต ไม่เพียงรูปโฉมสวยงามเท่านั้น แต่ประตูจะเปิดแบบปีกนกบ้าง กรรไกร บ้าง โดยเฉพาะตัวแรงสุดเดือด‘SSR’ รูปทรงเพรียวลมไม่ต่างจากซูเปอร์คาร์ตัวกลั่นอย่าง‘แมคลาเลน’ ที่เด่นๆ นอกจากรูปทรงสปอร์ตจ๋าแล้ว ตัวถังทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งคัน

ขุมพลังเดือดสุด อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ในเวลา 1.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง จัดว่าเป็นรถไฮเปอร์คาร์แรงเดือดจริงๆ และยิ่งเพิ่มคุณค่าอีกเพราะเป็นรถที่ประกอบมือด้วย

อาจได้เห็นตัวเป็นๆ ในงาน‘มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023’ นี้ด้วย

โรงงานอัจฉริยะคุมด้วยA.I.

หลังชมรถสวยๆ ตัวโชว์แล้ว ทีมงาน‘GAC Group’ และไอออน พาทัวร์โรงงานผลิต ซึ่งควบคุมด้วยระบบอัจฉริยะแบบ‘A.I.’ โดยทุกการเยี่ยมชมทีมงานพาเดินตามรอย‘นายสี จิ้น ผิง’ ผู้นำของจีนที่เคยมาชมโรงงานนี้ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี่เอง

เริ่มขบวนการผลิตตัวถังใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด เช่นการเชื่อม หรือประกอบ เมื่อเข้าสู่กระบวนการต่อมาเริ่มมีแรงงานเข้ามาร่วมด้วย แต่พระเอกหลักยังเป็นหุ่นยนต์ ด้วยการใช้‘A.I.’ ควบคุมนี่เองทำให้สายพานการผลิต สามารถประกอบแบบสลับรุ่น หรือสลับสี และแต่งตามออปชั่นที่แตกต่างกันได้ ทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ขณะที่ดีลเลอร์ หรือตัวแทนจำหน่าย รวมถึงลูกค้า สามารถสั่งประกอบรถที่ต้องการได้ทันที

ความประทับใจแรกคือแทบไม่ได้กลิ่นน้ำมัน กลิ่นไหม้ของการเชื่อม การอ๊อกตัวถังเลย แถมเสียงก็ไม่ได้ดังมาก นัยว่าวิศวกรคำนวณการใช้ไฟ หรือไฟฟ้าในการเชื่อม อ๊อกอย่างพอดีๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ทำให้เกิดประกายไฟน้อยถึงน้อยที่สุด และด้วยระบบ‘A.I.’ ทำให้สามารถเปลี่ยนหัวเชื่อมสลับกันไปมาระหว่างเชื่อมเหล็ก หรืออัลลอย ได้ด้วย

ในการผลิตรถยนต์ตลอดทุกขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษๆ จากนั้นรถแต่ละคันจะออกมาตามสายพานต่อเนื่องกัน เฉลี่ยคันละ 53 วินาทีเท่านั้น

แบตเตอรี่ปลอดภัยที่สุดในโลก

อีกจุดที่น่าสนใจไม่พ้นพื้นฐานของโครงสร้าง ออกแบบมาเพื่อผลิตรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ยิ่งกับการบรรจุแบตเตอรี่บริเวณพื้นใต้ท้องรถ ผ่านการคำนวณอย่างแม่นยำ

บริษัทเคลมว่าการซีลกันน้ำสามารถทำให้จุดติดตั้งแบตเตอรี่ สามารถแช่น้ำได้นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยไม่เสียหาย เรียกว่าเป็นจุดขายสำหรับเมืองไทยที่ฝนตกทีไร เกิด‘น้ำรอระบาย’เกือบทุกครั้งไป

โดยแบตเตอรี่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ‘GAC Group’ ด้วยเทคโนโลยี‘แมกกาซีน แบตเตอรี่’ ที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดในโลก จุดเด่นคือแยกโมดูลจากกันชัดเจน ทำให้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะไม่ลุกลามจนเกิดปัญหาใหญ่

เฉิน วาน

“เราคิดค้น Magazine Battery ขึ้นมาและเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ GAC AION เท่านั้นซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 100%และตั้งแต่เรานำ Magazine Battery มาใช้ ในรถไฟฟ้า ไม่เคยเกิดไฟไหม้หรือระเบิดเลยสักครั้งซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่เราจำหน่ายในประเทศไทยรุ่นแรก คือ รุ่นAION Y Plus ก็ได้ติดตั้ง Magazine Battery เช่นกันนั่นก็สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าชาวไทยได้ว่า AION Y Plusมีความปลอดภัยสูง”

นายเฉิน วาน ผู้อำนวยการธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวและว่า นับแต่เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ไอออน ไม่เคยมีปัญหาแบตเตอรี่ระเบิด หรือไฟไหม้รุนแรง แม้แต่ครั้งเดียว

เทคโนโลยีจอดอัตโนมัติ-สุดว้าว

หลังดูโรงงานแล้วเสร็จ มีโอกาสทดลองนั่งรถทดสอบ AION และ Hyper ในรุ่น LX Plus รุ่น V Plus และรุ่น Hyper GT น่าเสียดายเล็กน้อยที่ได้แค่นั่งไม่ได้ขับเอง แต่สัมผัสได้ถึงความแรงของรถแต่ละรุ่นได้ประมาณหนึ่ง

พร้อมกันนี้ทีมงานโชว์เทคโนโลยีช่วยจอด ที่ใส่ไว้ในรุ่น‘AION V Plus’ ความเจ๋งของระบบนี้คือสามารถสั่งการผ่านสมาร์ตโฟน โดยหลังกดเริ่มการทำงาน แรกสุดผู้ขับขี่จะขับรถจากจุด‘A’ ไปยังจุด‘B’ ซึ่งเป็นที่จอด จากนั้นขับกลับมายังจุด‘A’อีกครั้ง เพื่อให้ระบบจดจำเส้นทาง

เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จ ครั้งต่อไปผู้ขับขี่สามารถจอดรถที่จุด‘A’ ลงจากรถแล้วเปิดระบบเพื่อให้รถเคลื่อนตัวไปหาที่จอดเองยังจุด‘B’ เมื่อต้องการใช้รถผู้ขับขี่แทนที่จะเดินไปจุดจอดรถ สามารถยืนรอที่จุด‘A’ แล้วเปิดระบบ รถจะเคลื่อนตัวออกจากลานจอดมายังจุด‘A’ ได้ด้วยตัวเอง อารมณ์คล้ายๆ กับมีพนักงานรับ-ส่งรถ มาจัดการให้นั่นเอง กรณีนี้เหมาะกับคนที่มีจุดจอดรถประจำ

ส่วนระหว่างทางไม่ต้องห่วงว่าจะไปเฉี่ยวชนใคร เพราะมีระบบอัตโนมัติจากเลเซอร์ และกล้องรอบคันช่วยตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย ซึ่งการแสดงครั้งนี้จำลองเหตุการณ์กรณีคนเดินตัดหน้า รถจะเบรกอัตโนมัติ จากนั้นค่อยเคลื่อนตัวมายังจุดที่กำหนดไว้ รัศมีทำการอยู่ในระยะ 150 เมตร

ถ้าอารมณ์แบบคนไทยประมาณอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งมีที่จอดรถประจำ ผู้ขับแค่มาจอดรถที่หน้าคอนโดฯ แล้วเปิดระบบให้รถเคลื่อนตัวไปหาที่จอด เวลาจะออกไปธุระก็มายืนรอหน้าคอนโดฯ เปิดให้ระบบขับรถมาหาได้เอง

ศูนย์‘R&D’เหนือชั้นระดับโลก

จากนั้นคณะเดินทางต่อไปยังศูนย์‘R&D’ ซึ่งน่าตกใจกับความใหญ่โตโอฬาร แม้ไม่สามาารถบันทึกภาพได้ แต่จากที่ตาเห็นทั้งเทคโนโลยี การทดสอบ ต่างๆ น่าทึ่งมาก โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติไร้คนขับ‘ADIGO PILOT’ ตอนนี้สามารถผลิตรถแท็กซี่ไร้คนขับ ให้บริการในกว่างโจว แล้วราว 60 คัน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันยังศึกษาและพัฒนาระบบขับขี่ไร้คนขับอย่างต่อเนื่อง มีรถ 3 คันแล่นทดสอบอยู่บนนถนนจริงๆ โดยแต่ละคันมีผู้ควบคุมนั่งไปด้วยเพื่อความปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมาย แต่ผู้ควบคุมไม่ได้บังคับ หรือจับพวงมาลัยเลย ปล่อยให้รถขับเคลื่อนอย่างอัตโนมัติไปเอง ทั้งวิ่ง เบรก เลี้ยว เปลี่ยนเลน หรือกลับรถ

หากเกิดปัญหากับระบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลยู่ในรถจะเข้าคบคุมทันที และหากผู้ดูแลเกิดปัญหาขึ้น ที่ศูนย์ฯ มีเครื่องคล้ายๆ ซีมูเรเตอร์ ควบคุมรถคันดังกล่าวจากระยะไกลอยู่ด้วย เรียกว่าตรวจสอบและเข้มงวดความปลอดภัยถึง 2 ชั้น ทีมงานระบุว่าระบบนี้เหมือนตัวช่วยผู้ขับขี่ให้สบายขึ้น แต่ไม่ได้เข้ามาทดแทนโดยตรง

พร้อมยกตัวอย่างเช่นการขับรถแล้วมีรถบรรทุกที่แล่นด้านหน้าทำของตก หรือรถตัดหน้า จนผู้ขับขี่อาจควบคุมความเสียหายไม่ได้ 100% ระบบอัตโนมัติจะช่วยหักหลบหรือจอดเข้าข้างทางเพื่อความปลอดภัย

ตื่นตา-ตื่นใจกับ‘GO-VE’รถบินได้

ที่ศูนย์‘R&D’ ยังโชว์นวัตกรรมรถบินได้ในชื่อ‘GO-VE’(โกวี่) โดยสามารถแยกตัวถังกับห้องโดยสารออกจากกันได้ ตัวถังทรงรีๆ แบนๆ ด้านบนเป็นห้องโดยสารนั่งได้คนเดียว บริเวณด้านนอกห้องโดยสารมีใบพัด 6 ชุดยื่นออกมารอบตัว อารมณ์คล้ายๆ ‘โดรน’

สามารถขับขี่บนถนนปกติ แต่เวลารถติดสามารถแยกห้องโดยสารบินขึ้นฟ้าไปยังจุดหมาย ส่วนตัวถังจะขับเคลื่อนไปยังจุดชาร์จที่กำหนดไว้อัตโนมัติ

ทีมงานเล่าว่าทดสอบใช้งานจริงมาแล้ว แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกสักพักเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ เรียกว่าเป็นการโชว์เทคโนโลยีล้ำอีกขั้น

ขณะที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของ‘GAC Group’ เป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญเพราะพัฒนเพิ่มความปลอดภัยและความจุของแบตลิเธียมไออน โดยเฉพาะรุ่น‘AION LX’อีกหนึ่งตัวแรง สามารถวิ่งได้เกิน 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง พร้อมพัฒนาระบบชาร์จเร็ว ที่สามารถชาร์จแบตเพียง 5 นาที สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 200 กิโลเมตร

พร้อมสำหรับเมืองไทยไม่กลัวร้อน-ฝน

ปิดท้ายด้วยการพูดคุยกับผู้บริหาร และถามตอบข้อสงสัยต่างๆ หนึ่งในคำถามไฮไลต์ไม่พ้นปัญหาการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ที่เจอทั้งอากาศร้อนและน้ำท่วมเป็นประจำ

เรื่องน้ำท่วมนั้นไม่น่ามีปัญหาใดๆ เพราะระบบซีลแบตเตอรี่ของไอออน ผ่านการทดสอบสามารถจมน้ำได้นานถึง 6 ชั่งโมงโดยไม่เสียหาย

ส่วนเรื่องกาศร้อนที่เคยมีตัวอย่างจากรถยนต์ไฟฟ้าบางแบรนด์ มีปัญหาเมื่อต้องเจอสภาพอากาศร้อนจัดๆ ของไทย ทั้งแบตหมดเร็ว หรือจอดรถกลางแดดแล้วใช้เวลานาน กว่าแอร์ในรถจะส่งความเย็นออกมาเต็มประสิทธิภาพ

ผู้บริหารยืนยันว่าไม่มีปัญหาแน่นอน หนึ่งเพราะแบตเตอรี่ของไอออน ผ่านการทดสอบในอุณหภูมิสูงสุด 120 องศาเซลเซียวส และต่ำสุดลบ 20 องศาเซลเซียส

ที่สำคัญสภาพภูมิอากาศของกว่างโจว ใกล้เคียงกับเมืองไทยมาก ทำให้การผลิตรถยนต์ของไอออน และ‘GAC Group’ ที่คำนึงถึงการใช้งานของคนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากเป็นเมืองที่มีสัดส่วนยอดขายสูงสุด จึงการันตีได้ว่าการใช้งานในเมืองไทยผ่านฉลุย

ส่วนในปี 2567 ไอออน เตรียมรถใหม่อีก 2-3 รุ่นเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม พร้อมทั้งเดินสายพานการผลิตรถยนต์ในไทยอย่างเป็นทางการ

หรรษา แซ่ซึ้ง

“AION เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งโรงงานอัจฉริยะมาตรฐานระดับโลก ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้ามั่นใจ และไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของ AION และปัจจุบัน AION ประเทศไทยได้อนุมัติสร้างศูนย์บริการมากกว่า 30 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีหน้า”

นายหรรษา แซ่ซึ้ง ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสประจำประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023 ไอออน เตรียมนำรถหลายรุ่นมาจัดแสดง เพื่อโชว์ศักยภาพ และความพร้อมเต็มที่ในการทำตลาดในเมืองไทย

สันติ จิรพรพนิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน