โตโยต้า ทำใจปีนี้ยอดขายรวมลดลงอีกเหลือ 7.3 แสนคัน แต่โตโยต้ามั่นใจทำยอด 2.5 แสนคัน พร้อมลุยปิกอัพไฟฟ้า‘รีโว่ BEV’ ส่งล็อตแรกให้เมืองพัทยา เม.ย.นี้

นายโนริกาอิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 ว่าก่อนหน้านี้ประเมินภาพรวมขายได้ 780,000 – 800,000 คัน เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ทำได้ 770,000 คัน แต่ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงปลายปีและต้นปีที่ผ่านมาทำได้ไม่ดีนัก บวกกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ จึงปรับลดยอดขายรวมเหลือ 730,000 คัน

โนริกาอิ ยามาชิตะ

ส่วนของโตโยต้า ตั้งเป้าขาย 250,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 34% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งโตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาดที่ 34.3% แม้การเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน และการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลทำต่อการบรรลุเป้าหมาย แต่เมื่อดูตัวเลข 2 เดือนแรกของปีนี้ โตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาด 34.8% สูงกว่าปีที่แล้วที่ 34.3% จึงเชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้

ยอดขายของโตโยต้า มาจากรถหลักๆ หลายรุ่น เช่น ยาริส ครอส นับตั้งแต่เปิดตัวมา 5 เดือน มียอดจองสะสมกว่า 25,000 คัน หรือเดือนละประมาณ 5,000 คัน ไฮลักซ์แชมป์ เปิดจองมา 3 เดือน ได้ยอดจองกว่า 5,000 คัน และโคโรลล่า ครอสใหม่ เปิดรับจองเพียง 1 เดือน เราได้รับยอดจองมากกว่า 3,000 คัน คิดว่ายอดขายของรถทั้ง 3 รุ่นน่าจะไปได้ดีเรื่อย ๆ ในปีนี้

ส่วนการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้านั้น โตโยต้า ยังคงกลยุทธ์ Multi Pathway นำเสนอทางเลือกหลากหลายสำหรับลูกค้าที่ต้องการแตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้รถตรงกับความต้องการมากที่สุด เพราะแต่ละประเทศมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน ต้องดู 3 ปัจจัยหลักๆ ประกอบด้วยลูกค้าแนวโน้มจะซื้อรถเทคโนโลยีอะไร สภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีโครงสร้างทางพลังงานอย่างไร และเราจะช่วยเหลือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้อย่างไร เช่นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค อุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีสูงถึง 12%

“หากดูสภาพการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านไทย ความนิยมในรถไฮบริดมากกว่ารถไฟฟ้า ดังนั้นรถไฮบริดจึงยังมีข้อได้เปรียบด้านการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอยู่ สำหรับนโยบายด้านไฮบริดของโตโยต้า เพิ่งเปิดตัวรถโคโรลล่าครอสรุ่นไฮบริดไปเมื่อไม่นานมานี้ อยากจะให้รถยนต์รุ่นหลักของโตโยต้ามีออปชั่นเป็นไฮบริดให้ครบทุกรุ่นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

นายโนริกาอิ กล่าวอีกว่า แม้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตได้ดีโดยเฉพาะปี 2566 แต่ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐที่สนับสนุน แต่หากใช้ไทยเป็นฐายนการผลิตยังไม่คุ้มค่าเพราะในอาเซียนรถยนต์ไฟฟ้ายังนิยมไม่มากนัก ตอนนี้จึงอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสม อย่างไรก็ตามโตโยต้าน้อมรับนโยบายของประเทศไทย ที่ต้องการมีสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ซึ่งโตโยต้ามีแผนผลิตรถไฮลักซ์ BEV ให้เทศบาลเมืองพัทยา ใช้เป็นรถสองแถววสิ่งทดสอบ 12 คัน ในวันที่ 25 เมษายนนี้

“โตโยต้ายังมุ่งสร้างสรรค์ทางเลือกดีที่สุดสําหรับลูกค้าทุกด้าน ทั้งการใช้งานได้จริง ความประหยัด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ โตโยต้าจะผลิตรถไฮลักซ์ BEV แบบ mass production ภายในปี 2025 พร้อมกับพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้ รวมถึงไฮบริดและพลังงานไฮโดรเจนด้วย ส่วนเรื่องที่ว่ารถปิกอัพ BEV จะจำหน่ายได้หรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง”

สำหรับคุณค่าที่รถประเภทนี้จะให้กับตัวลูกค้าได้ ไม่ว่าจะในส่วนของการใช้งานจริงหรือการประหยัดจริง เป็นเรื่องต้องพิสูจน์กันต่อไป การจะแนะนำรถปิกอัพ BEV ให้ได้สำเร็จ จำเป็นจะต้องให้ลูกค้าพิสูจน์ก่อนว่าเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันแล้ว มีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้าง รถปิกอัพเป็นที่คนไทยใช้ทํามาหากิน จึงต้องพิจารณาว่า จะทําอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์รถกระบะ BEV ที่ใช้งาน และลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยสนับสนุนประเทศไทยได้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน