เขียนโดย ธีรนัย จารุวัสตร์

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของกระทรวงต่างประเทศจีน ถ้าใครคุ้นเคยกับระบบราชการจีนคงเดาได้เลยว่า การดูงานที่ประเทศจีนส่วนใหญ่คือการนั่งฟังการบรรยายจากบรรดาหน่วยงานต่างๆ จนบางครั้งรู้สึกเหมือนเป็นนักเรียนในห้องเรียนมากกว่าเป็นนักข่าว

อยู่มาวันหนึ่ง ผมและคณะสื่อต่างชาติก็กำลังนั่งฟังบรรยายเกี่ยวกับระบบการปกครองของประเทศจีน ขอสารภาพว่าตอนนั้นใกล้จะหลับเต็มทีแล้ว เพราะผู้สอนกำลังพูดถึงรัฐธรรมนูญของจีน โดยอธิบายว่าผู้นำจีนคนปัจจุบันควบตำแหน่งสำคัญทั้ง 3 ตำแหน่ง คือประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง

“เหตุผลที่เราให้คนเดียวคุมทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ เป็นเพราะเราได้บทเรียนจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 2532” อาจารย์ Tang Xiao พูดพร้อมรอยยิ้มเหมือนเป็นเรื่องปกติ

จังหวะนั้นบรรดานักข่าวในห้อง รวมถึงตัวผมด้วย หายง่วงทันที เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าปกติแล้วสังคมจีนจะไม่พูดถึงการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยรอบๆจัตุรัสเทียนอันเหมินและใจกลางกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พศ. 2532 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่วินาทีนี้จู่ๆก็มีข้าราชการจีนพูดโพล่งขึ้นมาเอง

คลิปสำนักข่าว BBC รายงานการปราบปรามผู้ชุมนุมบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532

เมื่อเห็นว่าพวกเราตั้งใจฟัง อ. Tang ซึ่งสอนวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยการต่างประเทศ (China Foreign Affairs University) จึงอธิบายต่อว่า ก่อนเหตุการณ์เทียนอันเหมินนั้น ทั้งสามตำแหน่งแยกกันเป็นสามคน

จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน “จ้าว จื่อหยาง” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ณ ขณะนั้น มีใจให้กับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ขณะที่ผู้นำอื่นๆเห็นว่ายอมไม่ได้

“เลขาธิการพรรคเห็นด้วยกับนักศึกษา กลายเป็นความแตกแยกกันในรัฐบาล ทำให้ประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงต้องสั่งให้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์” อ. Tang กล่าว “หลังจากเหตุการณ์นั้น สามตำแหน่งนี้จึงเป็นคนคนเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพ”

จ้าวจื่อหยาง (ซ้าย) สนทนากับประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อปี 2530 หรือ 2 ปีก่อนกรณีเทียนอันเหมิน

สังเกตว่าคำอธิบายของเหล่าซือท่านนี้แตกต่างไปจากมุมมองแบบสื่อตะวันตกที่เราเข้าใจกันว่า เหตุการณ์เทียนอันเหมินคือการปราบปราบการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยรัฐบาลจีน

ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่มองว่า การประท้วงเป็นเพียงปัจจัยเดียว แต่การแตกแยกภายในคณะผู้นำนั้นสำคัญกว่า และมีความกลัวว่าหากจีนยอมให้มีการปฏิรูปตามที่ผู้ชุมนุมต้องการ ประเทศจีนอาจเกิดความวุ่นวายจนประสบชะตากรรมเดียวกันกับสหภาพโซเวียตในปี 2534

“ตอนแรกสหภาพโซเวียตก็ยอมเปิดประเทศและปฏิรูป แต่ประเทศก็แตกเป็นเสี่ยงๆ ขณะที่ประเทศจีนยังคงอยู่ และแข็งแกร่งขึ้นด้วย” อ. Tang ระบุ

จนถึงทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์ยังไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนเท่าใดในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน โดยรัฐบาลจีนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 ราย ขณะที่นักกิจกรรมตะวันตกเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจจะมากถึงหลักพัน

‘นักศึกษาโดนหลอกใช้’

บังเอิญว่าช่วงที่ผมไปจีนนั้นตรงกับสัปดาห์หลังจากวันครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์เทียนอันเหมินพอดี และทางรัฐบาลจีนก็ได้พาคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมจัตุรัสเทียนอันเหมินด้วย

คงไม่ต้องบอกว่ามีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ทหารและตำรวจเฝ้ากันรอบจัตุรัส ซึ่งได้รับเกียรติเป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ใครจะเข้าชมเทียนอันเหมินต้องเดินผ่านจุดตรวจและแสดงบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง

จัตุรัสเทียนอันเหมินในปัจจุบัน ด้านซ้ายคืออนุสรณ์รำลึกการปฏิวัติของประชาชน

“ทางการจีนกลัวว่าจะมีใครเข้าไปก่อความวุ่นวาย” คุณเจสซี่ ไกด์ชาวจีนของคณะเรา กล่าวอธิบาย พร้อมชี้ให้ดูถังดับเพลิงที่วางอยู่รอบจัตุรัส “เคยมีบางคนจุดไฟเผาตัวเองประท้วงน่ะ”

หลังจากไกด์ของเราแนะนำประวัติศาสตร์ของเทียนอันเหมิน(โดยไม่พูดถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2532) ก็กำชับพวกเราว่า ควรหลีกเลี่ยงพูดเรื่องการเมืองขณะเดินชมจัตุรัส เนื่องจากมีตำรวจนอกเครื่องแบบปะปนอยู่กับนักท่องเที่ยวเพื่อสังเกตสิ่งผิดปกติ ซึ่งตำรวจเหล่านี้สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้ด้วย

เมื่อได้ฟังแบบนี้แล้วผมก็ทำใจแล้วว่าคงไม่ได้คุยกันเรื่องเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

แต่โชคเข้าข้างผมอยู่บ้างเมื่อลองกระซิบถามคุณเจสซี่ว่า อยากดูจุดประวัติศาสตร์ที่ “Tank Man” เข้าไปขวางขบวนรถถังที่ส่งมาปราบปรามผู้ชุมนุมจนกลายเป็นภาพถ่ายที่โด่งดังไปทั่วโลก ไกด์จึงพาไปด้านเหนือของจัตุรัสและชี้ให้ผมดูทางทิศตะวันออกของถนน Chang’An Avenue

ภาพชายนิรนามยืนขวางขบวนรถถังใกล้จัตุรัสเทียนอันเหมิน

“คุณเห็นตึกสูงๆนั่นมั้ย นั่นคือโรงแรม Beijing Hotel จุดที่นักข่าวต่างชาติสองคนสามารถถ่ายภาพวินาทีชายคนนั้นยืนขวางรถถังได้” คุณเจสซี่กล่าว ก่อนจะเงียบไปครู่หนึ่งและพูดต่อ “จริงๆแล้วผมเห็นใจพวกนักศึกษาที่มาประท้วงนะ พวกเขามีใจบริสุทธิ์ แต่พวกเขาโดนอิทธิพลภายนอกหลอกใช้”

มุมมองว่านักศึกษาในกรณีเทียนอันเหมินถูกอิทธิพลตะวันตกครอบงำเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศจีนเป็นทัศนคติที่ชาวจีนหลายคนใช้มองเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากในขณะนั้นประเทศจีนยังอยู่ในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นปรปักษ์ของจีนก็มีประวัติใช้อุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” เข้าแทรกแซงประเทศอื่นๆเพื่อขยายอิทธิพลของตน

อดีตคืออดีต?

ถ้าลองดูบทความจากสื่อทางการของจีนในช่วงหลายปีมานี้ ก็จะเห็นแนวคิดนี้ค่อนข้างบ่อย

(ดังนั้น การพูดว่ารัฐบาลจีนปฏิเสธว่าเหตุการณ์เทียนอันเหมินไม่เคยเกิดขึ้น คงไม่ถูกต้องนัก เพราะรัฐบาลจีนยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แต่ยืนยันว่าไม่ได้เกิดขึ้นแบบที่สื่อตะวันตกรายงาน)

เช่นเมื่อสองปีก่อน Global Times สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ลงบทบรรณาธิการว่าแม้แต่นักศึกษาที่เคยเข้าร่วมการประท้วงเทียนอันเหมิน ก็กลับใจในภายหลังเพราะเห็นความวุ่นวายทางการเมืองของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันตก และยูโกสลาเวีย ทำให้ระลึกได้ว่า ประเทศจีนต้องสามัคคีกันเพื่อไม่ให้บ้านเมืองล่มสลายแบบประเทศเหล่านั้น

ผู้ชุมนุมรุมเผารถถังของรัฐบาลในเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 2532

“นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่การพัฒนาประเทศจีนในเวลาต่อมา และมีบทบาทสำคัญหลายประการในสังคม” บทบรรณาธิการ Global Times กล่าวในปี 2560

“บุคคลที่ยังพยายามปลุกกระแสเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวคือคนที่ย้ายไปอยู่นอกประเทศจีน หรือไม่เคยได้เห็นความเป็นจริงกับตาตัวเอง แต่กลับเอาเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านประเทศจีน”

เมื่อเดือนมิย.ที่ผ่านมา Global Times ก็เพิ่งลงบทบรรณาธิการว่า ปัญญาชนจีนเติบโตขึ้นและมีคุณูปการให้แก่ประเทศจีนอย่างต่อเนื่องในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

มองต่างมุม

ทางด้าน อ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนสมัยใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองในมุมต่างไปจากทัศนคติของรัฐบาลจีน

โดยอาจารย์ท่านนี้คิดว่า ความคิดที่ว่ารัฐบาลจีนกลัวว่าจะเกิดการแตกแยกภายในพรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่น่ามีมูล เพราะ “จ้าว จื่อหยาง” เลขาธิการพรรคที่เห็นด้วยกับขบวนการนักศึกษาถูกถอดจากอำนาจตั้งหลายวันก่อนการสลายการชุมนุมแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากจ้าว จื่อหยางถูกปลดจากตำแหน่งทุกตำแหน่งเพราะความเห็นต่าง เขาได้ถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลากว่า 15 ปี (นานกว่าออง ซาน ซู จี เสียอีก) จนกระทั่งเสียชีวิตขณะถูกกักบริเวณเมื่อปี 2548

“บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ต่อมาได้มีการลักลอบเอาเทปบันทึกเสียงของเขามาตีพิมพ์เป็น “บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง” ที่เล่าเบื้องลึกเบื้องหลังกรณีเทียนอันเหมิน

“เป็นคำอธิบายที่ใช้ไม่ได้” อ.วาสนากล่าว “การบอกว่าจำเป็นต้องปราบไม่งั้นมันจะเกิดความวุ่นวาย เป็นคำอธิบายที่ฟังไม่ขึ้น มันไม่จำเป็นต้องใช้รถถังขนาดนั้น นักศึกษาไม่มีอาวุธอย่างชัดเจน ต่างจากที่เอาทหารเข้าไปในปักกิ่งตั้ง 200,000 คน”

“เหตุการณ์นั้นไม่สามารถ justified (หาความชอบธรรมมารับรอง) ได้” นักวิชาการจีนศึกษากล่าวสรุป “รัฐบาลจีนใช้ข้ออ้างแบบนี้มาตลอด ล่าสุดที่ฮ่องกงประท้วง ก็พยายามบอกว่าเป็นการจลาจล สุดท้ายก็ต้องขอโทษ”

อย่างไรก็ตาม ครั้งที่ผมเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว ผมก็มีโอกาสถามข้าราชการฝ่ายการเมืองจีนเกี่ยวกับเทียนอันเหมินอีกท่านหนึ่ง และก็ได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับที่ได้ยินบ่อยๆว่า รัฐบาลจีนต้องปราบปรามการประท้วงเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบในหลายประเทศ

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเรียกร้องประชาธิปไตย แต่กลายเป็นการพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐในวงกว้าง” อ. Kang Jincheng อดีตผู้ช่วยทูตของประเทศจีนประจำสหราชอาณาจักร อธิบายให้ผมฟังในครั้งนั้น

อ. Kang กล่าวต่อ “แต่หลังจากเหตุการณ์จบลงนั้น ประธานาธิบดีเติ้งก็พยายามสร้างความสมานฉันท์ ท่านไม่ได้บอกว่า ใครหนีไปเมืองนอกแล้วกลับมาเราจะฆ่าให้หมด แต่ท่านกลับขอร้องพวกเขาว่า พวกคุณโปรดกลับมาประเทศจีนเถิด กลับมาช่วยกันสร้างชาติของเรา”

จ้าวจื่อหยางออกมาเจรจากับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ก่อนถูกจับกักบริเวณจนสิ้นชีวิต

ผู้เขียนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน