กระตุ้นการ ทำงานที่บ้าน

ทำงานที่บ้าน – วันที่ 1 เม.ย. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย โควิด รายใหม่จำนวน 120 ราย เสียชีวิต 2 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 74 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 1,771 ราย เสียชีวิตสะสม 12 ราย กลับบ้านได้แล้ว 416 ราย ยังรักษาใน รพ. 1,343 ราย

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยกลับบ้านได้ที่เพิ่มขึ้นมาก็เป็นเรื่องปกติ เพราะประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือน มี.ค. โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีผู้ป่วยที่รักษาหายทยอยกลับบ้านเพิ่มขึ้น

และช่วงนี้ก็จะมีการนำผู้ป่วยมารับการรักษาใน รพ. 7 วัน หากอาการดีขึ้นก็จะส่งออกไปยังส่วนที่เป็น Hospitel เมื่อครบ 14 วันหากอาการดีขึ้น ก็สามารถกลับบ้านได้

เมื่อถามถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในบ้านหรือกลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยยังไม่ลด จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ก็ยังอยู่ที่ 100 กว่ารายก็ต้องบอกว่ายังไม่พอใจ จะต้องลดลงอีก สิ่งที่อยากจะได้คือจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลง โดยจะต้องลดลงเหลือน้อยที่สุด ต่ำร้อย ต่ำสิบ และไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เลย

มาตรการต่างๆ ที่ออกมาทั้งการหยุดอยู่บ้าน รักษาระยะห่างแสดงว่ายังไม่ได้ผล ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตอนนี้รถไฟ รถเมล์เพิ่มเที่ยวกันแล้วหรือไม่ คนออกนอกบ้านทำไมยังเยอะอยู่ ทำไมการทำงานที่บ้าน การเหลื่อมเวลาทำงานไม่เวิร์กหรืออย่างไร หรือไม่มีใครให้ความร่วมมือ

ห่วง โควิด พุ่งไม่หยุด

ตอนนี้ต้องถามว่าทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการทำงานที่บ้านแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างหน่วยงานรัฐต่างๆ ก็ยังเห็นว่ามีรถมาจอดกันเต็ม เลิกงานรถก็ยังติด แบบนี้มีการทำงานที่บ้านกันหรือไม่ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้การทำงานที่บ้านง่ายขึ้น ซึ่งก็เข้าใจบางงานอย่างงานบริการลดไม่ได้ แต่งานออฟฟิศก็ควรจะลดได้

อัตราการทำงานที่บ้านคิดว่ายังไม่เยอะ เพราะอย่างต่างประเทศที่ให้ทำงานที่บ้าน ที่ปิดกันจริงๆ ถนนจะโล่งแทบไม่มีรถหรือคนออกมาเดิน แต่สภาพตอนนี้ที่เห็นคือรถยังติดทุกเช้าทุกเย็น รถเมล์ รถไฟฟ้าคนยังแน่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผมก็ลองไปดู 3 แห่ง คนก็ยังเยอะอยู่ หากจะเพิ่มระยะห่าง รถเมล์รถไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มความถี่ในการวิ่งขึ้นหรือไม่ หรืออย่างซูเปอร์มาร์เก็ตก็อาจต้องขยายเวลาในการเปิดหรือไม่

“สมมุติคนพันคนไปซูเปอร์มาเก็ตแต่เปิดแค่ 10 ชั่วโมง คนก็จะไปกระจุกตัวกันมากขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาเพราะต่างประเทศการขยายเวลาเปิดอาจได้ผล แต่ในเมืองไทยก็ต้องมาดูว่าจะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมแหล่งใหม่หรือไม่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน