กรมควบคุมโรค ขยายเกณฑ์สอบสวนโรค โควิด-19 ให้ตรวจได้ทุกราย หากแพทย์คิดว่ามีสงสัยติดเชื้อ ด้านกรมวิทย์ตั้งเป้าเพิ่มห้องแล็บตรวจยืนยันเชื้อให้ได้ 110 ห้อง ครอบคลุมผู้มีประวัติมาจากทุกประเทศ อาชีพเสี่ยงที่ทำงานสัมผัสต่างชาติจากทุกประเทศ ไปในสถานที่ชุมชนแออัด กลุ่มบุคลากรการแพทย์ให้ตรวจได้ทุกราย

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีการขยายผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและสอบสวนโรคให้มากขึ้น และนำเข้ามาสู่การตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) โดยในส่วนของ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ซึ่งเรากำหนดนิยามต้องมีไข้ 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเดิมเรากำหนดอู่ฮั่น มาเป็นจีน และพัฒนามาตามลำดับ ตอนนี้มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วทั้งโลก 209 ประเทศ จึงปรับนิยามโดยขยายครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่ามาจากประเทศไหน หากป่วย มีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ อยู่ในข่ายต้องสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติการ

2.การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล เกณฑ์คือ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับทางเดินหายใจ และโรคปอดอักเสบ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเดิมคือ มีประวัติเดินทางไปประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย เราก็ขยายไปยังทุกประเทศ ทำให้กลุ่มประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวก็ขยายขึ้นทุกประเทศตามไปด้วยที่ต้องได้รับการสอบสวน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ประวัติเสี่ยงว่าไปสถานที่ชุมชน สถานที่แออัด มีการรวมกลุ่มคน หรือสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบยังเป็นไปตามเกณฑ์เดิม

3.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เราแยกออกมาจากกลุ่มสถานพยาบาล เพราะพบการรายงานติดเชื้อในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างวันที่ 6 เม.ย. ก็มีกรณี รพ.วชิระภูเก็ต รักษาผู้ป่วยต่างชาติประสบอุบัติเหตุแล้วพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีบุคลากรสัมผัส 112 ราย

เบื้องต้นผลตรวจออกมามากกว่า 90 ราย ว่าเป็นลบ แต่มีความจำเป็นต้องกักและเฝ้าอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน จึงต้องแยกเกณฑ์สำหรับกลุ่มบุคลากรออกมา โดยอาการที่จะเข้าเกณฑ์สอบสวนคือมีไข้ 37.5 องศา มีอาการทางเดินหายใจ หรือปอดอักเสบ ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ผู้สงสัยว่าป่วย และทุกรายที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาว่าติดเชื้อ แสดงว่าบุคลากรสามารถได้รับการตรวจและสอบสวนทุกราย

และ 4.การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งเรามีการกำหนดไว้แล้ว แต่จะมีความสำคัญในช่วงฤดูฝน เพราะมีเรื่องของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หากมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน โดยบุคลากรทางการแพทย์ติดเป็นกลุ่ม 3 ราย คนทั่วไป 5 ราย หากผลตรวจไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแรพิดเทสต์หรือพีซีอาร์เป็นลบ ก็จะนำเข้าสู่การตรวจโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ไปสัมผัส แต่ไม่มีอาการนั้น โดยปกติเมื่อเจอผู้ป่วยยืนยันจะมีการแยกผู้สัมผัสใกล้ชิด หากมีไข้ก็จะเข้าสู่เกณฑ์การจัดการเหมือนกับผู้ป่วย แต่หากยังไม่มีไข้ก็จะเฝ้าระวังไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือกักตัวเองที่บ้าน โดยในส่วนของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์และตรวจทางห้องปฏิบัติการจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐออกให้

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่มีอาการ ทั้งที่เราติดตามได้ หรือผู้มีความเสี่ยงติดต่อเข้ามา จะได้รับการสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติ โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากการปรับนิยามและขยายกลุ่มผู้สัมผัส จะทำให้ประชาชนทั้งกลุ่มป่วยและผู้สัมผัสเข้าถึงการสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บที่จะตรวจมีเพียงพอหรือไม่นั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่ตรวจยืนยันเชื้อด้วยวิธีการ RT-PCR จำนวน 80 ห้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอยู่ใน กทม. 39 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 41 แห่ง ซึ่งศักยภาพในการตรวจสูงสุดคือ กทม.ประมาณ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยกรมฯ มีโครงการหนึ่งจังหวัดหนึ่งแล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ รายงานผลใน 1 วัน โดยภายใน เม.ย.นี้จะเพิ่มห้องแล็บเป็น 110 ห้อง ซึ่งก็จะพอๆ กับเกาหลีใต้ที่มีประมาณ 100 ห้อง และปรับปรุงกระบวนการรายงานแบบออนไลน์ทำให้สามารถรายงานผลได้สอดคล้องยิ่งขึ้นใน 24 ชั่วโมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน