สธ.เผย ไทยเริ่มเจอผู้ป่วย “โควิด” ประปราย กลับไปเหมือนช่วง ก.พ. – ต้น มี.ค. ชี้ต้องคงอัตราผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่า 5 คนต่อ 1 ล้านคนต่อวัน ช่วยไม่ต้องปิดเมือง
วันนี้ (25 พ.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย มีจำวนผู้ป่วยในประเทศค่อนข้างน้อย แนวโน้มเจอผู้ป่วยประปรายเป็นระยะๆ จากเดิมที่เจอวันละ 100 คนก็เลยวันละไม่กี่คน ถ้ายังคงแนวโน้มลักษณะจำนวนผู้ป่วยอย่างนี้ต่อไป
ก็จะยังคงสภาวะของการมีการแพร่ระบาดในวงจำกัดต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว ซึ่งเป็นภาพที่เราอยากจะเห็น ไม่อยากเห็นผู้ป่วยกลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สภาพตอนนี้จะคล้ายสถานการณ์การพบผู้ป่วยเหมือนช่วง ก.พ.ถึงต้น มี.ค. ที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่ที่แตกต่างคือลักษณะการป้องกันตัวของคนไทยดีขึ้นกว่าช่วงต้นมี.ค.มาก เนื่องจากคนไทยใส่หน้ากากมากขึ้น ออกมานอกบ้านน้อยลง และตอนนี้เราไม่มีการรวมตัวกันของคนเยอะๆ ซึ่งโอกาสเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ก็คือ ที่ที่รวมตัวกันเยอะๆ
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า แต่ตอนนี้เริ่มพบปัญหาคือมาตรการหย่อนลง ทั้งการป้องกันตัวส่วนบุคคล และมาตรการองค์กร ที่การทำงานที่บ้าน (Work From Home) ยังน้อย และการเหลื่อมเวลาทำงานยังไม่ดี ซึ่งล่าสุดได้พูดคุยกับผู้แทนของบีทีเอส ก็พบว่า สภาพรถไฟฟ้าขณะนี้มีผู้ใช้บริการกลับเข้ามามากขึ้น หลังจากผู้ใช้บริการลดลงอย่างมากช่วงปิดเมืองและให้ทำงานที่บ้าน แต่ตอนนี้เริ่มเพิ่มแล้ว
โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน มีผู้โดยสารมาใช้บริการสถานีค่อนข้างมาก เกินศักยภาพแต่ละเที่ยวที่รับผู้โดยสารได้ เช่น สถานีศาลาแดง ที่เป็นโซนย่านออฟฟิศ บางคนรอรถไฟฟ้าครึ่งชั่วโมง นั่งเพียง 10 นาที ดังนั้น พื้นที่โซนออฟฟิศและหน่วยงานต่างๆ ควรให้ความร่วมมือเรื่องทำงานที่บ้านและเหลื่อมเวลามากขึ้น ซึ่งก็ไม่มีกฎหมายไหนบังคับให้เอกชนทำงานที่บ้านได้ นอกจากนี้ รพ.ที่ยังมีผู้ป่วยแน่น ก็ควรจัดเรื่องการลดความแออัดและการเว้นระยะห่างด้วย
“ในสภาวะแบบนี้ไม่อยากให้ประเทศต้องเปิดๆปิดๆ อยากให้ผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำแค่นี้ต่อไป ระดับต่ำแค่ไหนที่จะไม่ไปปิดไปเปิด ข้อเสนอของทีมที่ปรึกษาคือ ต่ำกว่า 5 คนต่อ 1 ล้านคนต่อวันไปตลอดเรื่อยๆ แต่ถ้ามากกว่านี้มาตรการอื่นๆ ก็ต้องกลับมา อย่าง กทม.ที่มีประชากร 8 ล้านคน ถ้ายังมีผู้ป่วย 40 ราย ก็ถือว่าอยู่ในวงจำกัด”
นพ.ธนรักษ์กล่าวและว่า สำหรับผู้ป่วยระดับวิกฤต คือ คนไข้ล้น รพ. เกณฑ์คร่าวๆ คือ ผู้ป่วยมากกว่า 10 คนต่อล้านคนนานกว่า 14 วัน อย่าง กทม.ถ้ามีคนไข้เกิน 80 คนเกิน 14 วันก็เตรียมตัวได้ หรือเกิน 15 คนต่อล้านคนต่อวันแค่ครั้งเดียวก็ถือว่าวิกฤต อย่างไรก็ตาม กทม.ช่วงที่พีคสุดมีผู้ป่วยประมาณไม่เกิน 100 ราย