โควิด / สธ.คาดปลายม.ค. ยอดผู้ป่วย ‘โควิด’ ลดลง ต่างด้าวยังติดเชื้อกระจุกตัวสมุทรสาคร-ภาคกลาง ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเกิน 7 วันมี 20 จังหวัดแล้ว

วันที่ 8 ม.ค.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ติดเชื้อรวมกว่า 88 ล้านคน เสียชีวิต 1.9 ล้านคน จุดใหญ่ๆ ยังเป็นสหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล เพื่อนบ้านไทยก็เช่นกัน ทั้งพม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ส่วนประเทศไทยติดเชื้อเพิ่ม 205 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 131 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม แม้ตัวเลขวันนี้น้อยลง แต่กราฟยังเพิ่มขึ้น จึงประมาทไม่ได้ ต้องคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคล และสธ.จะค้นหาเชิงรุก จัดตั้งรพ.สนามรองรับผู้ติดเชื้อต่อไป

สำหรับการระบาดระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,604 ราย สมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 2,981 ราย ตามด้วยภาคตะวันออกและกทม. เสียชีวิต 7 ราย อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าครั้งแรก แต่จะต้องลดผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด ขณะนี้รักษาในรพ. 2,599 ราย มีอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ 8 ราย อยู่รพ.สนาม 1,703 ราย และรพ.เฉพาะผู้ป่วยอาการน้อย (Hospitel) 81 ราย

ทั้งนี้ รพ.สนามเป็นการแยกผู้ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการออกมา เพื่อสังเกตอาการไม่ให้ปะปนกับคนในชุมชน เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากๆ เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนผู้รักษาหายแล้วมี 1,306 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเมื่อผ่านไป 8-10 วันจะไม่แพร่เชื้อต่อ ถือว่าหายแล้ว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ กระจาย 57 จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่สีแดงที่มีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 50 ราย มี 8 จังหวัด พื้นที่สีส้มมีผู้ป่วยสะสม 11-50 ราย มี 10 จังหวัด พื้นที่สีเหลืองมีผู้ป่วยสะสม 1-10 ราย มี 19 จังหวัด พื้นที่สีเขียวไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มี 20 จังหวัด และพื้นที่สีขาวไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อนมี 20 จังหวัด

ทั้งนี้ สมุทรสาครเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดรอบนี้ โดยตลาดกลางกุ้งมีผู้ติดเชื้อเกือบ 40% มีคนตั้งคำถามว่าในโรงงานหรือในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศมีแนวโน้มอย่างไร จากการลงไปเฝ้าระวังในชุมชนต่างด้าวทั่วประเทศ เขตสุขภาพที่ 3 ภาคเหนือตอนล่างตรวจไปกว่า 1.5 พันคน พบติดเชื้อ 3 คน ส่วนภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ตรวจไปเกือบ 5 พันราย พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ดังนั้น แรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ จ.สมุทรสาคร และภาคกลางเป็นหลัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ จากการตรวจกว่า 2 หมื่นรายพบผู้ติดเชื้อน้อยมาก แต่ยังต้องเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับการระบาดให้ได้เร็วที่สุด

“ภาพรวมสถานการณ์ยังมีผู้ป่วยเพิ่มเติม หลายจังหวัดควบคุมได้ดี ในการค้นหาผู้ป่วย การติดตามผู้สัมผัส ประชาชนร่วมมือสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น และลดการเดินทาง ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คาดว่าปลายเดือนม.ค.น่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน” นพ.โอภาสกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน