สธ.เตือน 3 ที่เสี่ยงใกล้ตัว เฝ้าระวังติดโควิด ครอบครัว-ร้านอาหาร-ที่ทำงาน เร่งค้นหาเชิงรุก กทม. โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ชี้มีแอปฯ “หมอชนะ” ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานเร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 369 ราย ระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 8,186 ราย เป็นคนไทย 49.88% เมียนมา 45.11% ผู้มีอาการหนักใส่เครื่องช่วยหายใจ 15 คน เสียชีวิต 10 คน อัตราการเสียชีวิตต่ำจากความพร้อมรับมือ ไม่มีปัญหาเตียงไม่พอ แนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่รายวันยังทรงๆ ไม่เกินร้อยราย หากรวมกับค้นหาเชิงรุกตัวเลขจึงเพิ่มขึ้น
- อ่าน กทม.เปิดไทม์ไลน์ พบเดินห้างย่านพระราม2 เพียบ-เที่ยวคืนเคานต์ดาวน์
- อ่าน พบบุคลากรทางการแพทย์ศิริราชป่วย ‘โควิด’ ผู้สัมผัสใกล้ชิดติดด้วย 3 ราย
- อ่าน เปิดไทม์ไลน์ นักธุรกิจสาว อยู่บ้านทุกวัน ติดโควิดเพราะเพื่อนจามใส่ทีเดียว
ทั้งนี้ 4 กลุ่มก้อนสำคัญที่ระบาดในระลอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ติดเชื้อ พบว่า 1.จังหวัดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร จำนวนผู้ป่วย 568 ราย รวม 43 จังหวัด 2.เชื่อมโยงบ่อนการพนันในภาคตะวันออก 1,491 ราย 13 จังหวัด 3.เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง กรุงเทพฯ 283 ราย 10 จังหวัด และสนามชนไก่ จ.อ่างทอง 148 ราย 7 จังหวัด
“สำหรับกรณีพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ทรงตัวและลดระดับลง แต่จะต้องมีการค้นเชิงรุกในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกทม. เน้นการกำกับติดตามการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อจนครบ 14 วัน”
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะต้องระวังมากขึ้น ในสถานที่เสี่ยง 3 แห่งที่ใกล้ตัว คือ 1.ในครอบครัว ซึ่งจะต้องระมัดระวังกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ และเด็ก เพราะพบกลุ่มก้อนการติดเชื้อในครอบครัว (Family Cluster) จึงจะต้องลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้สูงอายุที่มีโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ดังนั้น ลูกหลานที่ไปเยี่ยมผู้สูงอายุหรืออยู่ร่วมบ้าน จะต้องคงมาตรการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้สูงอายุไม่ได้ไปสถานบันเทิง แต่โอกาสเสี่ยงจะติดจากลูกหลานที่ไปเที่ยว ขอให้เข้มมาตรการกันอีกระยะหนึ่ง
2.ร้านอาหาร/สถานที่รับประทานอาหาร และ3.สถานที่ทำงาน ซึ่งความเสี่ยงจะอยู่ที่การใกล้ชิดกันและไม่ได้ใส่หน้ากาก โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกันในที่ทำงาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้ใส่หน้ากาก
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับการแจ้งเตือนแอปพลิเคชันหมอชนะตั้งแต่วันที่ 9-16 ม.ค.2564 รวม 8 วัน มีการแจ้งเตือนสะสมแล้ว 4,232 ราย โดยแจ้งในวันที่ 16 ม.ค.2564 มากที่สุด 3,583 รายในพื้นที่ จ.ตาก และฉะเชิงเทรา โดยการแจ้งเตือนจะมีจำนวน 3 ครั้ง ช่วงห่างครั้งละ 30 นาที ซึ่งจะเห็นว่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เร็วขึ้น หากไม่มีแอปหมอชนะกว่าที่จะเจ้าหน้าที่จะแจ้งเตือนได้ทั้งหมดต้องใช้เวลานานมาก