สธ.พบหนุ่มไทย ติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้รายแรก กลับจากแทนซาเนีย ต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย ห่วงกระทบประสิทธิภาคพวัคซีน ย้ำมาตรการกักตัว ตรวจหาเชื้อ นำเข้ารักษา
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
วันที่ 14 ก.พ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเชื้อโควิด 19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาเข้ามาในประเทศไทย ว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 เราให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ
- นครปฐมติด ‘โควิด’ วันเดียว 8 ราย มีเด็ก 12 ปีป่วยด้วย คาดรวมตัวสภากาแฟ
- พรุ่งนี้วันแรก! คัมแบ็กเปิด 21 ตลาดที่สมุทรสาคร หลังฉีดฆ่าเชื้อ-ยันปลอดภัยไร้โควิด
- ‘โควิด’วันนี้! ยอดป่วยพุ่งกว่าเดิม ปทุมธานีน่าห่วงมาก-ติดเพิ่มอีก 67 ราย
1.ทำให้เชื้อระบาดง่ายขึ้น เช่น สายพันธุ์อังกฤษ ทำให้แพร่ระบาดง่ายในยุโรป เป็นต้น 2.ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นที่มาข่าวแอฟริกาใต้ระงับการฉีดวัคซีนบางตัว และ 3. ทำให้โรครุนแรงขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบ สำหรับประเทศไทยตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ จี ที่พบมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งทำให้ติดง่าย ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ
ทั้งนี้ ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ มีโอกาสพบเจอได้ เช่นก่อนหน้านี้พบสายพันธุ์อังกฤษในครอบครัวชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่การกักกันและตรวจทางห้องปฏิบัติการทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายสู่ชุมชน ล่าสุด พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (South African Variant) รายแรกของประเทศไทย เป็นชายไทยอายุ 41 ปี ทำงานรับซื้อพลอยอยู่ที่แทนซาเนีย 2 เดือน โดยให้ประวัติว่าที่แทนซาเนียไม่มีผู้ป่วยจึงไม่มีการสวมหน้ากาก วันที่ 29 ม.ค. มาต่อเครื่องเอธิโอเปียและเดินทางมาไทย อาการสบายดี จึงเข้ารับการกักกันใน State Quarantine วันที่ 3 ก.พ.ตรวจพบเชื้อเข้ารับการรักษาที่ รพ. อย่างไรก็ตาม เนื่องเดินทางมาจากแอฟริกาจึงมีการเก็บตัวอย่างส่งไปถอดรหัสพันธุกรรม ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้
“ทีมสอบสวนโรคจึงลงไปตรวจสอบสถานกักกันโรคและ รพ. พบว่าเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องป้องกันอย่างดี และเก็บตัวอย่างส่งตรวจพบเป็นลบทุกคน สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ส่วนใหญ่พบการระบาดในทวีปแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ส่วนในเอเชียยังไม่มี จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีผลกับประเทศไทย ดังนั้น การคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่พบสายพันธุ์นี้ โดยนำเข้าสู่การกักกัน เก็บตัวอย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการและประวัติเสี่ยงเข้า รพ.ทันที และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำให้เชื้อไม่ว่าสายพันธุ์ก็ไม่กระจายติดในชุมชนได้” นพ.โอภาสกล่าว