สธ.จี้เน็ตไอดอลหยุดชวนคนติดเชื้อกักตัวที่บ้าน เสี่ยงแพร่เชื้อต่อ ย้ำไม่มารักษาตามคำสั่งผิดกฎหมาย ห้ามคนติดเชื้อรักษาข้ามจังหวัด

วันที่ 13 เม.ย.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องกระจายทั่วประเทศ และกระจายเป็นกลุ่มก้อนบางจังหวัดเท่านั้น ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ และพบการระบาดที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กลุ่มนักศึกษาออกค่าย พบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงช่วงสงกรานต์ทำได้โดยคัดกรอง ควบคุม ติดตาม กำกับ กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เน้นป้องกันตนเองตลอดเวลา หากจำเป็นต้องเดินทางเข้าที่ชุมชนและสถานที่สาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ จะช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ดี และหลังสงกรานต์ควรทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ทรัพยากรแตกต่างกัน จึงจะไม่ใช้มาตรการปูพรมเหมือนกันทุกจังหวัด เพราะอาจจะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่

สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ ยืนยันให้อยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ให้กักตัวเองที่บ้าน ซึ่งการรักษานั้น ตามปกติเราให้อยู่โรงพยาบาลประมาณ 10 วันก็กลับบ้านได้ เพราะโอกาสแพร่หมดไปแล้ว แต่สายพันธุ์อังกฤษที่มีการกลายพันธุ์ จึงอาจให้ผู้ติดเชื้ออยู่โรงพยาบาลนานขึ้นเป็น 14 วัน ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำลังหาคำตอบ ว่าจะปรับอย่างไรเหมาะสม

ส่วน กทม. โรงพยาบาลเอกชนยังมีเตียงว่างหลักพันเตียง หากมีติดเชื้อมากขึ้น ได้จัดเตรียม Hospitel รองรับมากกว่า 4 พันเตียง และโรงพยาบาลสนาม ที่หลายหน่วยงานร่วมกันจัดตั้ง สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ขอให้ความมั่นใจผู้ติดเชื้อทุกคนจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลมีเตียงเพียงพอ คำนวณคร่าวๆ ประมาณ 3 หมื่นเตียงมีในมือเรียบร้อย เมื่อรักษาหายก็กลับบ้าน ทำให้มีเตียงหมุนเวียนเพียงพอ แต่ผู้ที่ยังไม่มีเตียงรักษา สามารถประสานหาเตียงได้ที่เบอร์ 1330, 1668 และ 1669

ส่วนอุปกรณ์ป้องกันตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ยังมีเพียงพอ โดยหน้ากกา N95 มีพอใช้ 12 เดือน หน้ากากอนามัย มีใช้ 9 เดือน และชุด PPE เพียงพอใช้ 5 เดือน ยาฟาวิพิราเวียร์มี 575,000 เม็ด ตอนนี้สั่งเพิ่มอีก 5 แสนเม็ด ส่วนห้องปฏิบัติการตรวจทุกจังหวัดมี 277 ห้อง วันหนึ่งตรวจได้ 81,700 ตัวอย่าง แม้ตอนนี้การตรวจค่อนข้างเยอะ 2-3 หมื่นตัวอย่าง ก็ถือว่ายังมีศักยภาพรองรับเพียงพอ

“ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องอยู่โรงพยาบาลเท่านั้น เพราะตอนนี้พบผู้ติดเชื้อปอดบวมแต่ไม่มีอาการ โดยอาการสามารถรุนแรงขยายตัวได้รวดเร็ว จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น การที่วันนี้ไม่มีอาการ ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้จะไม่มีอาการ และผู้ติดเชื้อมีเชื้อออกมาจากทางเดินหายใจ มีความเสี่ยงแพร่กระจายคนอื่น การดูแลใกล้ชิดเพื่อรักษา และควบคุมกำกับจึงสำคัญมาก

ประเทศไทยมีเตียงเพียงพอ มีอุปกรณ์ต่างๆ เพียงพอ ไม่เหมือนหลายประเทศที่ผู้ติดเชื้อมากดูแลไม่ไหว ต้องให้ไปดูแลที่บ้าน และย้ำว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย ถ้าเจ้าหน้าที่สั่งให้มารักษา แล้วไม่มารักษา ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เราไม่ค่อยอยากใช้มาตรการทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นเน็ตไอดอลที่เชิญชวนให้ผู้ติดเชื้ออยู่บ้าน ไม่ติดต่อเจ้าหน้าที่ขอให้หยุดการกระทำเด็ดขาด โดย กระทรวงสาธารณสุขหรือคนที่เกี่ยวข้องจะมีการติดต่อไปอีกครั้ง” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามถึงผู้ติดเชื้อใน กทม.ไม่ประสงค์อยู่ Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม แต่ขอเข้าโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอื่นแทน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย หลักการไม่อยากให้ย้ายข้ามจังหวัด เพราะทำให้อีกจังหวัดเสี่ยงมากขึ้น การบริหารทรัพยากรแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน จังหวัดเล็กอาจมีเตียงว่าง หากมีผู้ติดเชื้อเข้าไป 1 คนแล้วสมมติเกิดแพร่กระจายออกไป อาจทำให้จังหวัดนั้นประสบความลำบากการควบคุมโรค

ตอนนี้อยู่จังหวัดไหนก็ขอให้อยู่จังหวัดนั้น จะไม่ย้ายข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ถ้ามีเหตุผลเฉพาะก็ว่ากันเป็นรายๆ ไป ขอทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือข้อสั่งการเจ้าพนักงานโรคติดต่อ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและภาพรวม ตอนนี้อาจติดขัดเล็กน้อยไม่สะดวก เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งอาจไม่ตรงใจ ขอความร่วมมือถ้ามีปัญหาจะดูแลเป็นรายกรณี แต่ภาพรวมไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด

ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโดยสารเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปนครศรีธรรมราชนั้น นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า โดยภาพรวมเรื่องการเดินทางนั้น เดินทางได้ เพราะเขาอาจไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ แต่ถ้าการเดินทางสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีการรายงานคนติดเชื้อบนเครื่องบินไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินจากต่างประเทศ หรือในประเทศ

ทุกคนเคร่งครัดในการใส่หน้ากากอนามัย และตอนนี้เราห้ามมีการดื่มน้ำ รับประทานอาหารบนเครื่องบินโดยเด็ดขาด ส่วนกรณี จ.ชุมพร พบผู้ติดเชื้อไปบริจาคเลือด เรื่องนี้ก็ต้องดูเป็นรายกรณีเช่นกันว่าตอนนั้นผู้บริจาครู้ตัวหรือไม่ อย่างไรก็ตามเลือดไม่ใช่ช่องทางหลักของการติเชื้อโควิด แต่โดยทั่วไปคนที่มีอาการไม่สบาย หรือมีอาการอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ไม่แนะนำให้บริจาคเลือดอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน