เอาจิตวิญญาณเพื่อผู้ป่วยคืนมา นายกสมาคมอุรเวชช์ฯ ขอพวกปรนนิบัตินักการเมือง ให้ข้อมูลจริง เตียงทิพย์อย่านับ เสียใจยอดดับเลข2หลัก จะเป็นเช่นนี้ไปอีกพัก ได้เวลาทุกฝ่ายวางข้อขัดข้องใจไว้เบื้องหลัง จับมือหาทางรอด #ประเทศไทยต้องไปรอด

วิกฤตผู้ป่วยโควิด – ท่ามกลางสถานการณ์การรักษาผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกิดปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาไม่มีเตียงรองรับ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 64 ว่า

ดูข่าวทีวีศบค.บอกเหลือเตียงรับผู้ป่วยโควิดอีกกว่าสองหมื่นเตียง อ้าว…ทำไมดรามาอาม่าเกิดขึ้น ทำไมสามีคนไข้ที่ผมดูแลต้องรอเตียงที่บ้านมา 8 วันยังไม่ได้ สงสัยพวกหมอที่ชงข้อมูลขึ้นไปคงคิดว่ามีเตียงอะไร ที่ไหน ก็จะดูแลคนไข้โควิดได้เลย ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่แจ้งเป็นแสนเตียงเลยล่ะ โรงพยาบาลต่างๆ มีเตียงเช่นนี้อีกเยอะ

ขอทีเถอะพวกที่ไม่ได้ทำเวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยแล้ว แต่ไปปรนนิบัตินักการเมืองเพื่อหวังผล ให้ข้อมูลที่เป็นจริงและสอดคล้องกับศักยภาพการแพทย์ของประเทศไทย อย่าให้อายเจ้าหน้าที่ขนย้ายผู้ป่วยโควิดในรูปที่เขารบเคียงบ่าเคียงไหล่พวกเราหมอ พยาบาล และบุคลากรสนับสนุน อย่างเต็มกำลังความสามารถอยู่ ณ ขณะนี้เลย #เอาจิตวิญญาณเพื่อผู้ป่วยคืนมา

ล่าสุด วันที่ 25 เม.ย.64 นพ.นิธิพัฒน์ โพสต์ข้อความอีกว่า บรรลุวัตถุประสงค์แล้วสำหรับประเด็นร้อน เรื่อง (บน) เตียง ที่โยนสู่สาธารณะ หากทำให้เกิดความขัดข้องหมองใจของคนที่เกี่ยวข้องที่ทำงานหนักอยู่แล้วก็ขออภัย หากทำให้คนหน้างานที่หลังแอ่นกันอยู่ขณะนี้ผ่อนคลายก็แสนจะดีใจ หากทำให้คนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางการรับมือวิกฤตโควิดระลอกหนักนี้ได้นำไปไตร่ตรองใช้ได้บ้างก็จะดีใจเป็นที่ยิ่ง แต่สำหรับพวกมาแจมโดยใช้คำพูดสร้างความจงเกลียดจงชัง (hate speech) ขอร้องช่วยไปไกลๆ และถ้ามีหลุดเข้ามาก็ขอให้ช่วยกันปล่อยวางอย่าไปโต้ตอบ ผมไม่เชื่อว่าใครที่ทำเช่นนี้จะคิดหรือทำเพื่อส่วนรวมจริงจังอะไรนักตามที่พวกเขาพร่ำบ่น

กลไกการรับมือวิกฤตโควิดทางการแพทย์แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ฝ่ายนโยบาย คือ รัฐบาล (ข้าราชการการเมืองทางตรงและทางลัด) และ ข้าราชการประจำ ส่วนฝ่ายปฏิบัติการ คือ ข้าราชการประจำ (เช่น สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือกลาโหม กทม.) ข้าราชการกึ่งประจำ (เช่น ผมเองที่เป็นพนักงานของรัฐ สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา) และ สังกัดอื่นๆ รวมทั้งภาคเอกขน








Advertisement

ธรรมชาติฝ่ายปฏิบัติการจะทำงานหนักและปิดทองหลังพระเหมือนที่พ่อหลวงสอนเราไว้ ส่วนฝ่ายนโยบายที่ทำงานหน้าพระเป็นคนตัดสินทิศทาง และมีหน้าที่ทำให้ประชาชนที่เป็นทั้งคนดูและคนรับผลได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นข้อมูลเรื่องเตียงดูแลผู้ป่วยโควิดที่ตรงกับความเป็นจริงจึงมีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย ถ้าเรายังสื่อสู่สาธารณะว่าเอาอยู่เพราะยังมีเยอะ ด้านหนึ่งจะทำให้พวกประชาชนนอกแถวยังไม่สำนึก แต่ด้านที่สำคัญคือทำให้ฝ่ายนโยบายไม่สำนึกเพื่อเร่งควบคุมปัญหาไม่ให้บานปลาย

เชื่อว่าตัวเลขเตียงว่างที่แจ้งเมื่อวานเป็นเรื่องจริงแต่ไม่ทั้งหมด ผมเสนอให้ต่อไปควรแบ่งเป็นสองส่วนก่อนคือ เตียงที่พร้อมใช้งานในช่วง 3 วัน (มีสถานที่ มีบุคลากร และมีอุปกรณ์) และที่จะพร้อมใน 4-7 วัน (กำลังจัดเตรียม ถ้าพร้อมเมื่อไรก็เปลี่ยนสถานะไปเป็นส่วนแรก) ส่วนเตียงในอนาคตกว่านี้หรือเตียงทิพย์ยังไม่ควรนับและไม่ควรนำมาแถลง โดยในแต่ละส่วนให้แบ่งย่อยไปอีกว่าเป็นเตียงไอซียูโควิด เตียงโควิดในโรงพยาบาลหลัก หรือเตียงโควิดใน hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม เพราะจะทำให้เห็นความชัดเจนในการเตรียมรับมือกับปัญหาได้ตรงจุด ส่วนระบบการแจ้งเตียงก็ต้องทำให้มีประสิทธิภาพและไม่เป็นภาระมากกับคนหน้างานตามโรงพยาบาลทุกประเภท

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย 11 รายวันนี้ โดยเป็นไปตามคาดว่าต้องเป็นเลขสองหลัก และอาจคงเป็นเช่นนี้ไปอีกพักหนึ่งเพราะยังมีผู้ป่วยหนักอีก 500+ คน ซึ่ง 130+ ใส่เครื่องช่วยหายใจ (กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตราว 25-50% ขึ้นกับต้นทุนสุขภาพของผู้ป่วยและศักยภาพของโรงพยาบาล) พวกเราอาจดีใจไปกับอัตราตายระลอกสองที่ 0.1+% และเฉลี่ยสองระลอกที่ 0.3% แต่ระลอกนี้ผ่าน 0.17% ไปแล้ว และน่าจะไปต่อจนเกิน 0.3%

แต่เราอาจช่วยไม่ให้สูงมากได้ ด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่และรักษาผู้ป่วยตกค้างให้ทันท่วงที แต่กว่าจะเห็นผลก็ไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ พร้อมไปกับการพยายามใช้เตียงโควิดไอซียูที่มีอยู่ตอนนี้ให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบการเกลี่ยศักยภาพและการช่วยเหลือกันระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ (ในกทม. ต้องแบ่งโซน) การเพิ่มเตียงไอซียูโควิดเฉพาะหน้านี้ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะภาคการแพทย์ได้เบ่งศักยภาพมาเกือบเต็มที่แล้วและมีข้อจำกัดด้านกำลังคน ซึ่งจะสาธยายต่อไป

วันนี้ผมไปตรวจเยี่ยมส่วนหนึ่งของทีมโควิดศิริราชในฐานะเป็นอาจารย์รับผิดชอบ ส่วนแรกดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางจนถึงรุนแรงน้อย 18 เตียง ผลัดหนึ่งใช้แพทย์ 2-3 คน พยาบาล 8-10 คน สายสนับสนุน 2 คน (นอกเวลาราชการ/กลางคืนลดเท่าที่จำเป็น) และส่วนที่สองดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงมากจนถึงวิกฤต 7 เตียง ผลัดหนึ่งใช้แพทย์ 3-4 คน พยาบาล 10-12 คน สายสนับสนุน 2 คน

ทั้งสองส่วนถ้าผู้ป่วยอาการหนักขึ้นจะต้องเรียกกำลังพลมาเสริมกว่านี้อีก พวกเขาต้องทำงาน nine to five หรืออย่างน้อยวันละ 8 ชม. ต่อเนื่องกันมากว่าสองสัปดาห์และคงจะต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ สำหรับโรงพยาบาลระดับรองหรือโรงพยาบาลในภูมิภาค ด้วยปริมาณงานเท่ากันนี้เขาใช้คนน้อยกว่าที่ผมใช้อีก คิดดูมันจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน
ได้เวลาที่ทุกฝ่ายจะวางข้อขัดข้องใจต่างๆ ไว้เบื้องหลัง เราจะจับมือกันเดินไปข้างหน้าเพื่อหาทางรอดของประเทศชาติ #ประเทศไทยต้องไปรอด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน