สบส .เผยผลตรวจคลินิกแล็บโควิดขนาดใหญ่ 14 แห่งใน กทม.ผ่านมาตรฐาน 11 แห่งร่วมมือกับรพ.แล้ว เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ป่วยติดเชื้อจะมีเตียง สั่งคลินิก-รพ.เอกชน 12 แห่ง แก้ไขหลังไม่ส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่รายงานกรมควบคุมโรค

วันที่ 26 เม.ย.2564 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโควิด 19 ภาครัฐตรวจอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงมีการสนับสนุนภาคเอกชนทั้งรพ.และคลินิกเข้ามาอยู่ในเครือข่ายให้บิรการตรวจหาเชื้อด้วย ซึ่งห้องปฏิบัติการทั้งรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ปัจจุบันมี 279 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 176 แห่ง และภาคเอกชน 103 แห่ง ส่วน กทม.มีห้องแล็บตรวจโควิดได้ถึง 109 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นแล็บของเอกชนมากกว่าภาครัฐ โดยคลินิกแล็บเอกชนที่ประชาชนนิยมไปตรวจจำนวนมากมี 14 แห่ง

” สบส.ได้ออกประกาศแนวทางการดำเนินงานของคลินิกแล็บ คือ 1.คลินิกที่จะให้บริการตรวจหาเชื้อต้องผ่านการรับรองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.ก่อนตรวจต้องให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้มารับบริการว่า หากผลเป็นบวกต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือมีภาวะเสี่ยงหรือไม่ ควรเข้ารับการตรวจหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตรวจ เพราะอาจสิ้นเปลืองหรือมีภาวะบางอย่างได้

3.หากผลการตรวจเป็นลบให้แจ้งประชาชนทันที หากผลเป็นบวกติดเชื้อจะต้องแจ้งประชาชนพร้อมกับดำเนินการแจ้งหน่วยงานควบคุมโรค เช่น พื้นที่ กทม. ให้แจ้งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อควบคุมโรคในกลุ่มผู้สัมผัสต่างๆ และสอบสวนหาสาเหตุ การแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อแก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อลงข้อมูลในโคแล็บว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าไร และ 4.คลินิกแล็บทุกแห่งต้องมีข้อตกลงหรือข้อสัญญากับสถานพยาบาลที่มีเตียง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อไป เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนไข้จะมีเตียง หรือหากเตียงเต็มต้องประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยต่อไป และหากยังหาเตียงไม่ได้ต้องรายงานให้ผู้อนุญาตทราบในแต่ละพื้นที่ ”

คลินิกแล็บโควิด

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สบส.ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดทีมลงตรวจมาตรฐานคลินิกแล็บโควิด 19 ทั้ง 14 แห่งใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการออกมาตรการดังกล่าว ทำให้คลินิกแล็บทั้ง 14 แห่งนั้น พบว่า มี 11 แห่งที่มีข้อตกลงร่วมกับสถานพยาบาลเอกชนแล้ว ส่วนอีก 3 แห่งกำลังดำเนินการลงนามในเอ็มโอยู ถือเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนที่ไปรับบริการตรวจแล็บแล้วจะทราบว่าตัวเองต้องทำอย่างไรและได้รับการส่งต่อ ซึ่งถือว่าผ่านการรัรองทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมาตรฐาน สบส. ก็จะประกาศรายชื่อทั้ง 14 แห่งในเว็บไซต์ของ สบส.” นพ.ธเรศ กล่าว

ตั้งแต่มีโควิดระบาดมากขึ้น เราพบประเด็นร้องเรียน ทั้งคลินิกแล็บรพ.เอกชน ในหลายเรื่อง เราดำเนินการเสร็จ 12 แห่งใน 3 ประเด็นหลัก คือ การไม่ส่งต่อผู้ป่วยโควิดหลังตรวจพบหรือวินิจฉัยแล้ว ไม่พบรายงานผู้ป่วยเข้าไปยังกรมควบคุมโรคหรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีการโฆษณาการตรวจเชื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยได้ออกคำสั่งทางปกครองให้ทั้ง 12 แห่ง แก้ไขปรับปรุงและระงับการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะมีการพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งให้ยุติการตรวจโควิด และระงับการโฆษณาต่อไป ยืนยันว่าเรื่องกฎหมายเราบังคับใช้อย่างจริงจัง หากไม่ดำเนินการก็มีโทษปรับหรือจำคุกต่อไป ”

นพ.ธเรศ ระบุด้วยว่า หากประชาชนมีประเด็นเรื่องการสอบถามข้อมูลหรือร้องเรียนเกี่ยวกับสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 ในวันและเวลาราชการ นอกจากนี้ ช่วงสัปดาห์นี้ สบส.ยังมอบหมายให้ อสม.เคาะประตูบ้านเพื่อทำความเข้าใจเรื่องวัคซีโควิด 19 กับประชาชน เรื่องการดูแลสุขภาพ และสำคัญคือช่วงหลังสงกรานต์ ประชาชนที่กลับไปเยี่ยมบ้านและกลับมา ก็ให้ไปช่วยดูตามบ้านต่างๆ ว่าหากเกิดไม่สบายมีประชากรกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ และให้รายงานกลับมา ช่วงนี้อาจเห็น อสม.ไปเยี่ยมมากขึ้น

ฝากให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล อสม.จะแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนด้วย การลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ช่วงนี้ผู้ป่วยมีจำนวนมาก วัคซีนสำคัญคือวัคซีนใจและ DMHTT เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เป็นต้น และขอให้ทุกคนช่วยให้กำลังบุคลากรทางการแพทย์และให้กำลังใจกันและกันเพื่อจะได้ผ่านช่วงนี้ไปได้ด้วยกัน “

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน