สธ. เผย ผู้ป่วยโควิดอาการหนัก 1 ใน 3 อยู่ใน กทม. ตอนนี้ยอดอยู่ที่ 829 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย ชี้ผู้ติดเชื้อ กว่าครึ่ง มาจากคนในครอบครัว

วันที่ 1 พ.ค.64 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 30 เม.ย. ฉีดแล้ว 1,477,078 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,095,230 ราย ส่วนผู้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งครบตามเกณฑ์จำนวน 381,848 ราย สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 1,891 ราย เป็นในระบบบริการ 1,799 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 85 ราย และเดินทางจากต่างประเทศ 7 ราย

วันนี้พบเสียชีวิต 21 ราย เป็นสถิติสูงสุดของการเสียชีวิต ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ป่วยที่กำลังรักษาทั้งหมด 28,745 ราย พบผู้ป่วยอาการหนัก 829 ราย โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย ประมาณ 1 ใน 3 อยู่กรุงเทพมหานคร(กทม.) รองลงมาเป็นสุมทรปราการ นนทบุรี และ ชลบุรี “สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบจนใส่ท่อช่วยหายใจ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัดส่วนการเสียชีวิตมีตัวเลขสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันนี้สูงสุด 21 ราย” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลประเภทผู้ป่วยระลอกเดือนเม.ย. รายสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 14-17 ของปี ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. รายงานจากระบบบริการ/เฝ้าระวัง รวม 31,850 ราย คิดเป็น 83.90% ซึ่งเปอร์เซ็นต์การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานมีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แม้แต่การอยู่ในครอบครัวก็ต้องระวัง เพราะอาจไม่มีอาการแต่ติดเชื้อแล้ว ซึ่งใน กทม.กระจายทุกเขตแล้ว ส่วนการรายงานการค้นหาเชิงรุกรวมสะสม 6,133 ราย คิดเป็น 16.10% ซึ่งน้อยลง เพราะผู้ป่วยเข้าระบบบริการค่อนข้างมาก

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับ 2 ตัวนี้ จึงเป็นตัวปัจจัยในการช่วยวิเคราะห์ว่า การระบาดของเดือน เม.ย. จะไปถึงจุดไหนบ้าง จึงสรุปได้ว่า 54% เป็นผู้ติดเชื้อมาจากสัมผัสในครอบครัวและเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่ง 2 สัปดาห์นี้ ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นผลให้การตรวจหาเชื้อมีภาระค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม แต่แนวทางปัจจัยเมื่อเราเจอผู้ป่วย เราจะต้องให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจหาเชื้อครั้ง

“แต่ด้วยครั้งนี้มีการตรวจจำนวนมาก จึงต้องแนะนำว่า ครั้งแรกเมื่อตรวจแล้วต้องอย่าไปไหน ให้กักตัวอยู่บ้าน และสังเกตอาการ ทั้งมีไข้ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น ฯลฯ หากมีอาการต้องรีบประสานจุดส่งต่อ รพ.สนาม หรือฮอสปิเทล หรือรพ. แต่หากตรวจครั้งแรกเป็นลบ แต่ตัวเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 14 วัน และไม่ต้องกังวลยังไม่ได้ตรวจครั้งที่ 2 สิ่งสำคัญคือต้องกักตัวก่อน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน