ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังเข้าประชุมร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ในการฉีดวัคซีนวานนี้ (6พ.ค.64)

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เรื่องโควิดมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นจุฬาฯ หารือกันแล้วว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยประชาชนได้อีกทางคือเข้ามาช่วยเหลือ สธ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมป้องกันโรคในขณะนี้ โดยจุฬาฯ จะเข้ามาตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนให้กับคนย่านปทุมวัน – สาทร เพื่อช่วยให้วัคซีนที่มีอยู่เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเอาวัคซีนไปหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนวิ่งเข้าหา โดยตั้งจุดบริการฉีดวัคซีน 3 จุด คืออาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 4 ชั้น 5 และศูนย์บริการสุขภาพ อาคารจามจุรี 9 โดยแต่ละจุดสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้วันละ 1.5 พันคน มีบุคลากรจากศูนย์สุขภาพมาร่วมให้บริการ

“คาดว่าหลังวันที่ 15 พ.ค.นี้ จะดำเนินการได้ อีกส่วนหนึ่งเรามองว่าวันที่ 1 มิ.ย. จะมีการเปิดเทอม ครู อาจารย์ ก็น่าจะมีภูมิคุ้มกันด้วย แต่จะไปฉีดที่ไหนถึงจะเร็ว ดังนั้น ถ้าจุฬาฯ เข้ามาช่วยฉีดวัคซีนให้ ครู อาจารย์ เหล่านี้ จะช่วยลด และบล็อกการแพร่เชื้อสู่นักเรียนได้ รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในมหาวิทยาลัย บุคลากรของมหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในครอบครัวสายตรง

สำหรับข้อมูลนั้นเบื้องต้นเรามีการลงทะเบียนผ่านระบบ “เป็ดไทยสู้ภัย” ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฐานหลักอยู่แล้ว” อธิการบดีจุฬาฯกล่าวและว่า นอกจากนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยได้หารือกันแล้ว เมื่อจุฬาฯ พร้อมในด้านต่างๆ แล้วก็จะมีการขยายการฉีดวัคซีนไปยังมหาวิทยาลัยพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชนในกทม. ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงวัคซีนแก่ประชาชนมากขึ้น

นายอนุทิน กล่าวว่า มีการหารือเรื่องร่วมจัดหาสถานที่ฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่จุฬาฯ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย อย่างน้อยจะได้ฉีดให้กับนิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่า ครู อาจารย์ และประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง สธ.มีหน้าที่ส่งวัคซีนไปให้ตามรายชื่อ เป็นการลดภาระงานของ สธ. คณะแพทย์ คณะเภสัชกรรม ในช่วงนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้องค์กรต่างๆ ที่มีพนักงาน 3 พันคน 5 พันคน เพื่อแบ่งเป็นวงๆ ให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน