เร่งคัดกรอง กทม.และปริมณฑล เชิงรุกให้ได้ตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริง นำมาสู่การวางแผนการควบคุมการแพร่ระบาด

วันที่ 8 พ.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.มีการทบทวนในสถานการณ์ กทม.และปริมณฑล โดยวันที่ 8 พ.ค. รายงานตัวเลขทั้งประเทศ 2,409 ราย อยู่ใน กทม.และปริมณฑล 1,641 ราย ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ส่วนต่างจังหวัด 71 จังหวัด ทิศทางรายงานผู้ติดเชื้อเป็นกราฟที่ค่อนข้างนอน

สำหรับ กทม.พื้นที่แพร่ระบาด คลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังถือเป็นคลัสเตอร์สำคัญตอนนี้ 1.ชุมชนโสมมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 2.ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก เขตดุสิต 3.ปากคลองตลาด เขตพระนคร และ 4.ศูนย์การค้าเขตพระนคร เทียบให้เห็นภาพคือ ไฟกำลังไหม้ กำลังระดมกำลังทุกภาคส่วนดับไฟ นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาที่ปลอดภัย และเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปยังผู้ใกล้ชิดและในชุมชน การคัดกรองเชิงรุกไม่ได้ทำในเฉพาะพื้นที่คลัสเตอร์สำคัญ แต่เขตอื่นๆ ทั้ง 50 เขต กทม. มีการระดมตรวจเชิงรุกเช่นกันมากน้อยตามรายงานผู้ติดเชื้อ

10 เขตที่พบผู้ติดเชื้อรายงานสูงสุดในวันที่ 7 พ.ค. คือ 1.คลองเตย 37 ราย 2.ราชเทวี 26 ราย 3.ปทุมวัน 24 ราย 4.บางกะปิ 13 ราย 5.จตุจักร 11 ราย 6.ดอนเมือ 9 ราย 7.ลาดพร้าว 9 ราย 8.ดุสิต 8 ราย 9.ยานนาวา 7 ราย และ 10. วังทองหลาง 7 ราย โดย 4 เขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ คือ ตลิ่งชัน ประเวศ คลองสาน และสวนหลวง ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ตรวจ ตรวจแต่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ

ตอนนี้ กทม.ระดมตรวจตามคลัสเตอร์ที่กำลังไฟไหม้ วันนี้ (8 พ.ค.) จะมีการลงตรวจ 1.สนามกีฬาธูปเตมีย์ 2.ชุมชนวัดสะพาน 3.ชุมชนคลองเตย 4.จุดตรวจสำเพ็ง 5.จุดตรวจอ่อนนุช 6.แฟลตคลองเตย และ 7.บ่อนไก่

“การตรวจจะเน้น กทม. ปริมณฑล เน้นที่มีการแพร่ระบาด คลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน และชุมชนพื้นที่เสี่ยง จะระดมตรวจให้มากที่สุด เร็วที่สุด และยังมีการสุ่มตรวจนอกจากชุมชนคลัสเตอร์ใหญ่ เขตอื่นที่ยังไม่มีรายงานติดเชื้อ หรือติดเชื้อต่ำก็ยังระดมตรวจด้วย เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ ศบค.ชุดเล็กพูดคุยกันเรื่องบริหารเตียง พอมีผู้ติดเชื้อแล้ว เราคัดแยกผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงเพื่อนำเข้าสู่การดูแลรักษาที่เหมาะสม ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-8 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อใหม่รวม 5,285 ราย ยอดหายป่วย 5,169 ราย ตัวเลขมาบรรจบกัน” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ผู้ป่วยยืนยันใน กทม.และปริมณฑล 14,351 ราย ตอนนี้เราแยกอาการเป็น 4 ระดับ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเป็นสีเขียวอ่อน 6 พันกว่าราย สีเขียวเข้มคือ ไม่มีอาการเลย 5 พันกว่าราย ส่วนสีแดงมี 570 ราย สีเหลือง 1,590 ราย จะเห็นสถานการณ์ว่าการระบาดระลอกนี้คือผู้ป่วยที่ครองเตียงระดับเหลืองและแดง เช่น วันที่ 6 พ.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ กทม.และปริมณฑล 739 ราย อัตราครองเตียงอยู่ที่ 14.2 วัน จำนวนนี้ 3.4% เป็นผู้มีอาการหนัก โดย 1.6% ของผู้มีอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

หมายความว่า 100 คน จะมีอาการหนัก 4 คน และ 1-2 คนต้องการเครื่องช่วยหายใจ คำนวณคร่าวๆ กทม.และปริมณฑล มีความต้องการไอซียู ตก 25 เตียงต่อวัน โดยอาการสีแดงควรได้เตียงทันที แต่อยากให้เฝ้าระวังจากประวัติก่อนมีอาการผิดปกติหรือไม่ มีประวัติสัมผัสเสี่ยงกับใคร ให้รีบเข้าสู่ระบบรักษา อย่ารอจนเป็นสีแดง ส่วนสีเหลืองจะมีการเปิด รพ.บุษราคัม รองรับผู้ป่วยสีเหลือง รวมถึงสีเขียวเข้ม ที่อาจยังไม่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว สัปดาห์นี้จะพร้อมเปิดรับผู้ป่วยอาการเหลืองและเขียวเข้ม จาก กทม. ปริมณฑล และโรงเรียนแพทย์

“มีการหารือรายละเอียดการเตรียมพร้อมสถานที่และอุปกรณ์ เพราะต่างจาก รพ.สนาม ต้องมีการบริหารเรื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ หากต้องการการรักษาที่มีความละเอียด ความยากลำบากยิ่งขึ้น อาจต้องมีผู้ช่วยพยาบาลพลิกตัวผู้ป่วย เป็นต้น มีการหารือกระบวนการจัดการในรายละเอียดรวมทั้งการระดมบุคลากรที่จะเข้าไปดูแลให้ได้มาตรฐาน” พญ.อภิสมัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงชุมชนแออัดที่ประชาชนอยู่กันหนาแน่น เขตรายงานว่าบางชุมชน ประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น และใช้ห้องน้ำร่วมกัน สิ่งควบคู่กันที่ต้องติดตามคือศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ เมื่อมีผู้ป่วยที่พบในชุมชนพื้นที่แออัด ต้องแยกออกจากบ้านโดยเร็ว จัดสถานที่พักคอยในชุมชน ส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนและวัด จะมีการจัดอาหาร ถุงยังชีพ สาธารณูปโภคที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ ก่อนนำเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือ รพ.สนาม หรือรพ.ตามระดับอาการรุนแรง การเคลื่อนย้ายเมื่อได้เตียง ก็ต้องมีการจัดการป้องกันการแพร่เชื้อด้วย

“กรมการแพทย์รายงานสถานการณ์การรอเตียง จากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่แล้ว มีการรอเตียงจนอาการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้จัดการได้ใน 1-2 วัน เป็นไปตามแผน ทำให้ผู้ตกค้างอาการสีแดงเป็น 0 จะเห็นว่าเมื่อมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกลับบ้าน เตียงว่างลง มีระบบประสานให้ประชาชนเข้าสู่ระบบและรอเตียง

มีการจัดสรรจัดการเตียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น สถานการณ์การรอเตียงคลี่คลายไปมาก แต่ส่วนหนึ่ง 60 กว่ารายปฏิเสธเตียง ขอให้ผู้นำชุมชน สื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจ การจัดสรรเตียงเขียว เหลือง แดง จัดการตามมาตรฐานสาธารณสุข แต่ระบบที่ได้รับการจัดสรรมีการเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมแน่นอน ไม่อยากให้มีการปฏิเสธเตียงเช่นนี้” พญ.อภิสมัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน