ไม่รอผลตรวจ 3 ผู้ป่วยนั่งเครื่องมาเชียงใหม่ แจ้งไปตรวจเชื้อด่วน ผู้โดยสารไฟลท์จากดอนเมือง ยังไม่เจออีก 3 คน วันนี้ดับเพิ่ม 1 ป่วย 22 คน

วันที่ 10 พ.ค.64 ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ มอบหมายให้นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัด พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผอ.รพ.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงสถานการณ์ Covid-19 ประจำวัน ระลอกเดือนเมษายน ของ จ.เชียงใหม่

ดร.ทรงยศ กล่าวว่า วันนี้ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22 ราย รวมยอดสะสม 3,916 ราย รักษาหายแล้ว 3,183 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 721 ราย และวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย ด้านปัจจัยเสี่ยง ยังพบว่าผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสในครอบครัวยังคงมีแนวโน้มสูง รวมทั้งการสัมผัสในชุมชน เช่น งานเลี้ยง ร้านอาหาร ตลาด เดินทางเยี่ยมเพื่อนบ้าน และการรวมกลุ่มเล่นการพนัน

แต่การสัมผัสในสถานที่ทำงาน และในสถานบันเทิง ลดลงชัดเจนตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในช่วงต้นเดือนเม.ย.เป็นต้นมา นอกจากนี้การตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะครบการกักตัว 14 วัน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย จึงคัดแยกผู้สัมผัสกักตัวต่อ และส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนาม

จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อจากคนนอกพื้นที่ที่ตรวจเชื้อจากต่างจังหวัด และไม่รอผลตรวจ เดินทางเข้าเชียงใหม่โดยเครื่องบิน ผลตรวจพบเป็นผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย จึงขอแจ้งให้ผู้เดินทางมากับสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD008 วันที่ 9 พ.ค. จากสนามบินดอนเมือง เวลา 16.30 น. ถึงเชียงใหม่เวลา 17.30 น. ในกลุ่มเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่นั่งสองแถวหน้าและสองแถวหลังของผู้ติดเชื้อ

ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ติดตามให้เข้ามารับการตรวจเชื้อแล้ว ยกเว้นที่ติดต่อไม่ได้ 3 ท่าน คือ เลขที่นั่ง 43A, 43C และ 41A ขอให้ติดต่อมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วน ส่วนเลขที่นั่งอื่นๆ ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ขอให้อยู่บ้านสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อาการใดอาการหนึ่ง ให้ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับการตรวจทันที

ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อ (คลัสเตอร์) จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 15 คลัสเตอร์ นับแต่เริ่มต้นการระบาดนั้น ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม แต่ยังเฝ้าระวังอยู่ 9 คลัสเตอร์ มีคลัสเตอร์ที่ยังมีการเคลื่อนไหวหรือพบผู้ติดเชื้ออยู่ 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ ต.หารแก้ว อ.หางดง กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ อ.ดอยสะเก็ด และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ อ.แม่วาง โดยวันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีเพียง 2 คลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มคือ คลัสเตอร์พนักงานดับเพลิงท่าอากาศยาน

พบจากการตรวจเชิงรุกก่อนครบการกักตัว 14 วัน เพิ่มอีก 2 ราย ทำให้ผู้ป่วยคลัสเตอร์พนักงานดับเพลิงท่าอากาศยาน มีผู้ติดเชื้อรวม 17 ราย โดยแยกกักตัวในโรงพยาบาลสนามแล้วทั้ง 2 ราย ส่วนกลุ่มเสี่ยงคนอื่นๆ ก็ยังให้กักตัวต่อไป สำหรับคลัสเตอร์งานศพที่ อ.อมก๋อย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่ไปร่วมงานศพมาเยี่ยมที่บ้าน เริ่มมีอาการ 2-3 วันที่ผ่านมา จึงมาตรวจที่โรงพยาบาลอมก๋อย ผลเป็นบวก ทำให้คลัสเตอร์งานศพที่อมก๋อยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 30 ราย

สำหรับยอดการจองฉีดวัคซีน รอบเดือนมิ.ย. จังหวัดเชียงใหม่มีการจองฉีดวัคซีนแล้ว ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง กว่า 43,000 ราย จึงขอเชิญชวนทุกท่านลงทะเบียนผ่านไลน์หมอพร้อม หรือที่โรงพยาบาลที่รักษาอยู่ โรงพยาบาลประจำตำบล และ อสม.ใกล้บ้าน ทั้งนี้ สามารถเลือกโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยฉีดและวันที่จะฉีดได้ โดยจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป

ด้านผศ.นพ.นเรนทร์ ชี้แจงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1 รายว่า เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โดยเดินทางไปจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง และวันที่ 13 เม.ย. มีไข้ หายใจเหนื่อยเล็กน้อย ต่อมาไปรับการตรวจหาเชื้อโควิดที่โรงพยาบาลเอกชน มีผลเป็นบวก

นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสันทราย เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อยมากขึ้น ระดับค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดต่ำลง ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 24 เม.ย. มีอาการเหนื่อยมากขึ้น ได้รับการรักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจ

จากนั้นจึงส่งตัวมารับการรักษาที่ร.พ.มหาราชนครเชียงใหม่ เนื่องจากมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ แพทย์จึงเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดฉีด ยาลดการอักเสบของปอด และยาปฏิชีวนะชนิดครอบคลุมเชื้อในวงกว้าง ต่อมาตรวจพบว่ามีปัญหาการติดเชื้อราแทรกซ้อน จึงได้รับยาต้านเชื้อราชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด และฟอกเลือดเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย

ผู้ป่วยมีอาการซึมลง จึงส่งตัวเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบมีภาวะแทรกซ้อนคือมีเลือดออกในสมอง มีอาการทรุดลง การทำงานของปอดแย่ลง ความดันโลหิตต่ำลด แพทย์ให้ยากระตุ้นความดันโลหิต แต่ไม่สามารถประคับประคองความดันโลหิตได้ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน