ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด ใน กทม. หลังพบคลัสเตอร์จำนวนมาก ก่อนยอมรับ พบเชื้อสายพันธุ์อินเดีย ในแคมป์คนงานหลักสี่ 15 รายแล้ว

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า ขณะนี้ พบว่าสถานการณ์ระบาดในกทม. พบมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ในแคมป์คนงานหลักสี่ พบคนงาน 15 ราย ตรวจพบว่า ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย โดยพบ B.1.617.2 ขณะนี้อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลอย่างดี มีการส่งทีมสอบสวนโรคลงไปดูแลควบคุมป้องกันการติดเชื้อต่อไป โดยสายพันธุ์ดังกล่าว สามารถทำให้ติดเชื้อแพร่กระจายได้ง่ายจำนวนมาก มีรายงานในหลายประเทศ

ทั้งนี้ พบรายงาน 35 คลัสเตอร์กระจายอยู่ใน 23 เขต กลุ่มก้อนที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ได้แก่ ที่พักคนงานก่อสร้าง หลักสี่ ,ดอนเมือง ,คลองเตย, ดินแดง, บางรัก ,บางกะปิ โดยอยู่ในใจกลาง กทม. คือ เขต คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก ป้อมปราบฯ หลักสี่ ดินแดง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ท่านนายกฯ ได้มีข้อพิจารณา สืบเนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ซับซ้อน จึงได้มอบให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการและแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขในศูนย์โควิด19 ให้ร่วมมือกันทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งกรุงเทพฯ กรมควบคุมโรค

โดยเน้น 1.ตรวจสภาวะสุขอนามัยของค่ายที่พักคนงานที่ยังไม่มีการติดเชื้อ ให้ควบคุมไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขตระหว่างค่ายที่พักคนงาน 2.จัดระเบียบตลาดนัดร้านค้าในชุมชน 3. ให้ดูแลสุขอนามัยของผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมถึงพนักงานส่งอาหารตามบ้าน 4. จัดระเบียบการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ5.ให้เน้นย้ำมาตรการ Work from Home ว่า ทุกหน่วยงานปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ รวมทั้งขอให้กรมอนามัย และหน่วยงานความมั่นคงมาเสริมปฏิบัติการในการตรวจตราอย่างเต็มที่

ยังมีมาตรการที่เป็นบทเรียนของจีน โดยได้สรุปยุทธศาสตร์ 4 ข้อแบ่งตามสภาพความเสี่ยงและปัญหาของพื้นที่ 1. พื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาดต้องป้องกันเข้มงวดไม่ให้มีการนำเชื้อเข้าพื้นที่ 2. พื้นที่ที่เริ่มมีผู้ป่วยต้องใช้มาตรการค้นหา ควบคุมการระบาดในพื้นที่ และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป 3. พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่ม ต้องควบคุมการแพร่โรคให้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้แพร่ไปยังพื้นที่อื่น โดยให้การรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด 4.พื้นที่ที่มีการระบาดอย่างมาก ใช้ยุทธศาสตร์การดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก และควบคุมการแพร่เชื้อ ให้ใช้มาตรการอยู่ที่บ้าน ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนบริหารจัดการให้ดีที่สุด

“นายกฯ ห่วงที่สุดคือ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันสูงขึ้น ท่านแจ้งว่าแม้แต่รายเดียว ก็ไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น จึงขอให้ฝ่ายการแพทย์ทั้งของ กทม. กรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง รวมทั้งเอกชน ได้ร่วมมือวางยุทธศาสตร์การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ ทรัพยากรร่วมกัน ที่ไหนขาดขอให้ช่วยแชร์กัน โดยเฉพาะยา เราก็มีการศึกษาวิจัย ทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาแผนไทยของเรา” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน