วัคซีนไทย จุฬาคอฟ19 จากโครงการวิจัยวัคซีนโควิด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมทดลองใช้ในมนุษย์ ภายในเดือน มิ.ย.คาดพร้อมผลิตเดือน ก.ค.นี้

Chulalongkorn University

ถือเป็นข่าวดีครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่คนไทยใกล้จะได้มีโอกาสรับวัคซีนโควิด19 ชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยทีมจุฬาฯ และบริษัท ไบโอเน็ท-เอเชีย จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยขณะนี้ ทีมวิจัยได้เตรียมพัฒนาการผลิตในประเทศสำหรับวัคซีนรุ่นที่ 2 ในกรณีเชื้อรุ่นที่ 1 ดื้อวัคซีนอีกด้วย

แผนการทดลองทางคลินิกในการใช้วัคซีนจุฬาคอฟ19

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ในระยะเริ่มต้น จะใช้ผู้ทดลองประมาณ 100 คนเพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมในการดูผลลัพธ์การตอบสนองสร้างระบบภูมิคุ้มกัน แม้ว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในสหรัฐฯอาจจะผลิตวัคซีนคุณภาพสูงมาก่อนเรา แต่ภายในเดือนกันยายน เราน่าจะมีวัคซีนของตนเอง ที่ผลิตโดย บริษัท ไบโอเน็ท เอเชีย ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยใช้เอง ถ้าหากคุณภาพและผลลัพธ์สามารถเทียบกับวัคซีนชั้นนำได้ ก็คาดว่า วัคซีนที่ผลิตในประเทศของเรา จะได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลและนักลงทุน”

“หากเราผ่านขั้นตอนนี้ เราวางแผนที่จะทำการทดลองระยะที่ 2 โดยทดสอบความสอดคล้องของการตอบสนองในอาสาสมัคร 200-300 คน จากนั้นต้องทำการประเมินความปลอดภัยของวัคซีนในผู้ป่วยประมาณ 5,000 คน และในระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย จะต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพ ที่มีการใช้กลุ่มทดลองหลักหมื่นคน”

Chulalongkorn University

การอนุมัติวัคซีนโดยไม่ต้องทดลองในระยะสุดท้าย








Advertisement

ศ.นพ.เกียรติ ระบุว่า “องค์การอนามัยโลก สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และ องค์กรอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลกกำลังดำเนินการเพื่อกำหนดระดับค่ากลางของแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกัน ที่วัคซีนควรกระตุ้นเพื่อให้การป้องกันที่เพียงพอ ซึ่งสามารถใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพได้โดยไม่ต้องทำการทดลองระยะสุดท้ายเหมือนที่ทำกันทั่วไป สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่”

“ที่สำคัญ ทีมของเรายังได้ขอให้เครือข่ายนักวิจัยจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่งตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ บิออนเทค มาให้ รวมถึงเราจะเก็บตัวอย่างจากคนไทยที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวค ถ้าหากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนจุฬาคอฟ-19 มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าวัคซีนที่ไทยเคยอนุมัติมาก่อน หน่วยงานกำกับดูแลของไทยอาจพิจารณาอนุมัติ วัคซีนจุฬาคอฟ-19 สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่ต้องมีผลการทดลองระยะที่ 3”

Chulalongkorn University

กำหนดการผลิตและแนวทางการใช้วัคซีนจุฬาคอฟ19 ในประเทศไทย

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ จส.100 (JS100) ว่า ขณะนี้ทีมได้ผลิตวัคซีนสำเร็จมาหลายสัปดาห์แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนทำหนังสือประกันคุณภาพเท่านั้น และเตรียมอนุมัติทดสอบกับมนุษย์ ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่า จะสามารถเริ่มทำการทดสอบกับมนุษย์ได้ภายในเดือน มิถุนายน และ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม โดยวัคซีนตัวนี้ มีคุณสมบัติเทียบกับ วัคซีนไฟเซอร์ บิออนเทค และ วัคซีนโมเดอร์นา เนื่องจากใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งอาจจะใช้โดสน้อยกว่า

สำหรับคนไทยต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 2 โดส แต่ต้องรอทดสอบค่าความปลอดภัย ในโดสแรกคาดว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นประมาณร้อยละ 60-70 และสำหรับโดสที่สอง คาดว่าจะได้ร้อยละ 100 อย่างแน่นอน วัคซีนจุฬาคอฟ-19 สามารถฉีดห่างกันได้ 3 เดือน แต่ต้องดูตัวแปรช่วงการระบาดควบคู่ไปด้วย

CHULA VRC

นอกจากนั้น วัคซีนจุฬาคอฟ19 สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิภายในตู้แช่เย็นทั่วไปประมาณ 2 สัปดาห์ จึงลดข้อกังวลเรื่องการขนส่งไปได้ และสามารถใช้ได้สำหรับประชากรในวัยรุ่นได้ แต่สำหรับผู้สูงวัย อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย

ศ.นพ.เกียรติ ระบุว่า ขณะนี้ ได้เตรียมทดสอบวัคซีนรุ่น 2 สำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตามมาด้วย พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่องการผลิตวัคซีนไปมากแล้ว ทำให้วัคซีนรุ่นต่อไป ที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับการกลายพันธุ์ จะสามารถผลิตออกมาได้ในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน เพื่อรับมือกับช่วงที่ระบาดหนัก โดยราคาที่กำหนดไว้ จะถูกกำหนดขึ้นจากราคาที่คนไทยเข้าถึงได้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต มีแผนเตรียมผลิตเพื่อส่งออกในระดับสากล

CU Radio

ชาวต่างชาติผู้อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของวัคซีน จุฬาคอฟ19 ของประเทศไทย

ศ.นพ.เกียรติ เปิดเผยว่า การประสบความสำเร็จในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะความช่วยเหลือของ ดร.ดรูว์ ไวซ์มัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ฟิลาเดเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกวัคซีนชนิด mRNA โดย ศ.นพ.เกียรติ ระบุว่า ตนเองรู้จัก และเชิญชวน ดร.ดรูว์ มาเข้าร่วมเสวนาข้อมูลด้านงานวิจัยกัน พร้อมเผยว่า โครงการนี้จะไม่มีคุณค่าเลย หากไม่ได้นำมาผลิตในโรงงานในประเทศไทย

วัคซีน จุฬาคอฟ19 ผลิตด้วยเทคโนโลยีการสร้างชิ้นส่วนขนาดเล็กจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดเล็กนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามขาของไวรัสขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสเพื่อเตรียมต่อสู้เมื่อมนุษย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้สัมผัสเชื้อ วัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA ดังกล่าวจะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย

Drew Weissman

ขอบคุณข้อมูล JS100

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน