โควิด มองโกเลียติดเชื้อยังพุ่ง แม้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแล้วครึ่งประเทศ

โควิด – วันที่ 10 มิ.ย. นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ประเทศมองโกเลียยังคงมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 ตัวการก่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ประชากรกว่าครึ่งจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากซิโนฟาร์มของจีนแล้วก็ตาม

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักวิชาการใช้มองโกเลียเป็นกรณีศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากค่ายซิโนฟาร์ม ซึ่งนับเป็นวัคซีนชนิดแรกของจีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

กรณีนี้เกิดขึ้นหลังทางการมองโกเลียพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,312 คน ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้มองโกเลียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 7 หมื่นคน และเป็นสถิติเกือบสูงสุดอีกครั้งนับแต่เดือนม.ค. ทั้งแนวโน้มเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อยังมากขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันมานาน 2 สัปดาห์แล้ว

People observing social distancing amid the coronavirus disease (COVID-19) pandemic in Ulaanbaatar, Mongolia June 3, 2021. REUTERS/B. Rentsendorj

รายงานระบุว่า มองโกเลียถือเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก และเป็นหนึ่งในชาติแรกๆ ที่นำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาให้ประชากรได้ครบทั้งหมดจากสองค่าย ได้แก่ ซิโนฟาร์มจากจีน (4.3 ล้านโดส) และสปุตนิก-วี จากรัสเซีย (1 ล้านโดส) แต่สปุตนิก-วี นั้นทางการมองโกเลียเพิ่งได้รับไปเพียง 6 หมื่นโดสเท่านั้น

วัคซีนซิโนฟาร์มและซิโนแวคจากบริษัทยาในจีนนั้นใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่ได้รับการยอมรับและใช้มานาน ซึ่งผลการศึกษาบ่งชี้ว่า มีประสิทธิภาพโดยรวมต่ำกว่าเทคโนโลยีใหม่อย่าง วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ จากไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

วัคซีนซิโนฟาร์ม

ในช่วงแรกซิโนฟาร์มยังถูกตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพเนื่องจากความโปร่งใสของข้อมูลที่ไม่เพียงพอจากการทดลองระยะท้ายๆ ทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังประเทศเซเชลส์ ชาติหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอาศัยวัคซีนดังกล่าวเพียงยี่ห้อเดียวยังเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม

อ่านข่าว : ฉีดวัคซีนแล้ว60% โควิดยังระบาด เซเชลส์เปิดรับนักท่องเที่ยว

นายเบ็น คาวลิ่ง นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า วัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนฟาร์มและซิโนแวกนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อมากนัก แต่สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงที่นำไปสู่การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้

“ตอนนี้มองโกเลียเองก็กำลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมคาดหวังว่าจะมีปริมาณผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลงครับ” คาวลิ่ง ระบุ

วัคซีนซิโนฟาร์ม

อย่างไรก็ดี ไวรัสก่อโรคโควิด-19 บางสายพันธุ์อาจอาศัยช่องโหว่ตรงนี้เพื่อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วได้แม้ประชากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม

ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ที่พบในอินเดียเป็นครั้งแรก หรือเดลต้า แม้ประชากรวัยกลางคนเกินกว่าครึ่งจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ และทางการอังกฤษประกาศร่นระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มสองให้ไวขึ้น เพื่อลดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

สถานการณ์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองขึ้นในมองโกเลียด้วย หลังรัฐบาลถูกสังคมตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงตัดสินใจใช้วัคซีนซิโนฟาร์มเพียงตัวเดียว โดยไม่นำวัคซีนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิสูงเข้ามาใช้แทน

A worker in protective suit measures the body temperature of a man following the coronavirus disease (COVID-19) outbreak at a polling station during the presidential election in Ulaanbaatar, Mongolia June 9, 2021. REUTERS/B. Rentsendorj

วิกฤตการเมืองยังเกิดขึ้นในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 6 ของประเทศ และยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผู้นำประเทศมีวาระเพียง 1 สมัย ไม่เกิน 6 ปี ซึ่งจะมีภารกิจหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรับมือการภาวะการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มองโกเลีย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความชื่นชมจากประชาคมโลกเมื่อปี 2563 เนื่องจากไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ แต่ต่อมาเกิดการระบาดขึ้นเมื่อเดือนพ.ย. 2563 นำไปสู่การประท้วงใหญ่ที่ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพราะถูกสังคมกล่าวโทษว่าทำงานหละหลวมในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ประเทศ

+++++

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน