“อนุทิน” รับฟัง อ.แพทย์เสนอล็อกดาวน์ กทม. แต่ต้องหารือ ศบค. ยันระบบสาธารณสุขไม่ล่ม เตรียมเจรจาเมืองทองธานี ขอยืดเวลาใช้ รพ.บุษราคัม

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอาจารย์แพทย์เสนอให้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล เพื่อควบคุมโรคโควิด 19 และให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปได้ ว่า เรารับฟังทุกอย่างและไปประเมิน โดยมีคณะทำงาน คณะกรรมการ และยังมี ศบค. แต่ว่าความเห็นที่มีคุณค่าจากอาจารย์แพทย์ทั้งหลายเราต้องฟัง ไม่ฟังไม่ได้ ฟังเสร็จแล้วต้องไปคิดพิจารณาด้วยว่าเหมาะสมสถานการณ์อย่างไร

และดำเนินการตามเหมาะสม ต้องดูทุกมิติ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ได้พบกับผู้ว่าฯ กทม.ก็พูดคุยว่ามีอะไรเราสนับสนุนเกื้อกูลกัน กทม.ก็ดูแลพื้นที่ให้เต็มที่ ขาดเหลืออะไร กระทรวงสาธารณสุขทั้งปลัดระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมการแพทย์พร้อมเข้าไปสนับสนุนช่วยกันแก้ไขปัญหา

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนกรณี รพ.บุษราคัม ที่จะใช้พื้นที่อิมแพค เมืองทองธานี ถึงสิ้นส.ค.นี้ ก็เตรียมจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม ตนรายงานนายกฯ แล้ว เพื่อดูภาคส่วนราชการต่างๆ ว่ามีพื้นที่ที่สะดวกทำเป็นโรงพยาบาลสนามแบบนี้หรือไม่ ซึ่งอาศัยพื้นที่ใหญ่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีระบบที่ดีด้วย อย่างอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี แอร์ในห้องแสดงสินค้าที่เป็นหอผู้ป่วย แยกกับแอร์ข้างนอก จึงไม่ได้ใช้อากาศร่วมกันระหว่างคนป่วยและทีมแพทย์พยาบาล แต่อย่างสถานีกลางบางซื่อ เป็นเซ็นทรัลแอร์ ไม่มีโซนแยก ก็ทำไม่ได้ อาจต้องไปเจรจาประธานเมืองทองธานีขอใช้อีก 2-3 เดือนได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอย่างไร เพราะ รพ.บุษราคัมมีประโยชน์มาก ถ้าไม่มีกทม.จะยุ่งมาก

เมื่อถามต่อว่าโรงพยาบาลหลายแห่งไม่รับการตรวจคัดกรองโควิด 19 เนื่องจากเตียงเต็มไม่มีรักษาผู้ป่วย นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ คิดว่าคงมีเหตุผลของเขา แต่คุณภาพการรักษาพยาบาลไม่ตกลงแน่นอน การรักษาพยาบาลตอนนี้เราบริหารจัดการโดยใช้ระบบเขตสุขภาพมาช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้ามองเป็นกระจุกอาจเห็นมีความแน่นหนา ใกล้จุดไม่เพียงพอ แต่ถ้ามองทั้งระบบเรายังบริหารจัดการได้

“อย่างวันนี้อาจเห็นผู้ที่หายป่วยน้อยกว่าผู้ป่วย เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วมีคลัสเตอร์เยอะผู้ป่วยเพิ่ม 3-4 พันคนต่อวัน แต่ผู้ป่วยหายประมาณ 2 พันคน ดังนั้น ถ้านับไปอีก 2 สัปดาห์จะเห็นผู้ป่วยที่หาย 3-4 พันคน ระหว่างนี้กระทรวงสาธารณสุข กทม. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปกดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้

คลัสเตอร์ต่างๆ ก็ต้องขอความร่วมมือ ผู้ว่าฯ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทำมาตรการ Bubble and Seal ห้ามคนเข้าคนออก ไม่ให้เดินทางไปไหนมาไหน แยกคนไม่มีเชื้อออกมา แยกผู้ป่วยเขารักษาตามอาการ กำชับขอความร่วมมือฝ่ายปกครองช่วยกัน เพราะกระทรวงสาธารณสุขทำได้แต่ป้องกัน รักษา ควบคุมเรื่องโรค แต่ไม่ถนัดเรื่องควบคุมคน” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามต่อว่าจะย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนามในจังหวัดที่มีผู้ป่วยไม่มากหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมด ใช้ระบบสาธารณสุขควบคุมดูแล กระทรวงสาธารณสุขไม่มีวันยอมให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย และไม่มีวันล่ม ใครก็ตามไม่ควรใช้คำนี้ แต่ควรช่วยกันคิดทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น

ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องระดมทั้งประเทศ ซึ่งทำมาแล้วอย่าง รพ.อย่างบุษราคัม คือการระดมสรรพกำลังบุคลากรทั่วประเทศมาทำงานสลับกันเข้ามาทำคนละ 2 สัปดาห์ เท่ากับว่ามีแพทย์และพยาบาลมีประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามได้ ขอให้มั่นใจว่าเราไปไม่ถึงจุดนั้น

เมื่อถามว่าสถานการณ์ต่างจังหวัดมีหลายคลัสเตอร์จะมีปัญหาการหมุนเวียนบุคลากรเข้ามาดูแลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้า Bubble and Seal ได้ก็ไม่กังวลเท่าไร ซึ่งสถานการณ์ในต่างจังหวัดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เรามีโรงพยาบาลหลักและรองหมุนเวียนกันไปได้ อย่างปีที่แล้ว จ.เชียงใหม่ เรากำหนด 2-3 โรงพยาบาลระดับอำเภอเป็นโรงพยาบาลโควิดโดยเฉพาะ ก็ไม่กระทบโรงพยาบาลใหญ่ มีโรคอื่นก็ส่งต่อกันเองระหว่างโรงพยาบาล

นี่คือสิ่งที่พยายามพูดว่าระบบสาธารณสุขทั้งหมด อย่าไปดูจุดเดียว ดูจุดเดียวก็ตกใจแน่นอน เพราะว่าน้ำหนักการระบาดอยู่ที่ กทม. ปริมณฑล และ 2-3 จังหวัด ยังกระจายไปได้ ที่เราแก้ไขทุกวันนี้คือแก้ไขไม่ให้ไปถึงจุดนั้น แก้ไขในพื้นที่ปัญหานั้นก่อน จะได้ไม่ต้องใช้สรรพกำลังอะไรมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน