“อนุทิน” แจงข้อเสนอ มาตรการคุมโควิดของ สธ.ทำตามหลักวิชาการ ใช้สถานการณ์ปัจจุบัน รอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณารายละเอียด ถ้าเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายก็เดินหน้าได้

วันที่ 8 ก.ค.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 จำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง ว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ตนและกระทรวงสาธารณสุขมีความกังวลตลอดเวลา และหาทางที่จะแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในส่วนที่ตนประสานงานได้ เช่น ติดต่อรับข้อเสนอ ประสานงาน รมว.คมนาคม จัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่ยกระดับเพื่อหาเตียงให้มากที่สุด เช่น ที่อาคาร Sat1 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เพิ่งสร้างเสร็จและยังไม่มีกำหนดการเปิดใช้ เอามารองรับผู้ป่วยก่อนเหมือน รพ.บุษราคัม

หรืออย่างวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขประชุมอีโอซี ทำแนวทางเสนอมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างที่ปลัดสาธารณสุขแถลงข่าวไป แต่จะต้องรอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค.ชุดใหญ่อนุมัติก่อน

เมื่อถามว่าจะใช้คำว่าล็อกดาวน์หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รอให้มติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) เวลา 10.00 น. เพื่อกำหนดบทบัญญัติรายละเอียด ก็ต้องรอดูว่าข้อเสนอของปลัด สาธารณสุขจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องฟังหลายฝ่ายๆ อาจต้องฟังภาคเอกชนด้วย เพราะ ศบค.เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม

ถามว่ากังวลมาตรการที่เสนอไปจะถูกตีตกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เสนอทุกอย่างตามหลักวิชาการทางการแพทย์ สถานการณ์แต่ละครั้งเอามาเทียบกันไม่ได้ ต้องใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่สุด คราวนี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องจะเพิ่มมาตรการ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอขึ้นไปที่ ศบค. ซึ่งวันนี้ปลัดสาธารณสุขก็ทำมาตรการเสนอขึ้นไป แล้วก็ไปหารือร่วมกันใน ศบค.ชุดเล็ก และนำเสนอศบค.ชุดใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่าคาดว่าครั้งนี้ ศบค.จะรับฟังกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น และเห็นชอบมาตรการที่เสนอไปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้มีการพูดคุยกันมากขึ้นระหว่างคณะทำงาน เป็นการเสนอและสนองระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้วยกัน ศบค.ชุดใหญ่เป็นผู้บริหาร คณะรัฐมนตรี ถ้าผู้ปฏิบัติงานเขาเห็นพ้องต้องกันในทุกภาคส่วน ทั้งความมั่นคง การแพทย์สาธารณสุข เศรษฐกิจ ถ้าเห็นพ้องกันก็คงไม่มีใครจะโต้แย้งอะไร

เมื่อถามถึงกระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกทม. อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เราประสาน กทม.และแจ้งแล้วว่าต้องดูแลประชาชนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระทรวงสาธารณสุขเองก็พยายามหาวิธีการตรวจเชื้อให้เร็วขึ้น เช่น การใช้ชุดตรวจแอนติเจน แต่จะใช้อย่างไรขึ้นอยู่กับทางการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขก็ได้พยายามหาเตียงเพิ่มตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน