ผวาซ้ำ! เจอสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โผล่บึงกาฬ พบเป็นคนงานกลับจากไต้หวัน แต่ถอดรหัสพันธุกรรม เทียบระหว่างไต้หวันและภาคใต้ ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงอัพเดตสายพันธุ์โควิด-19 ในไทย ว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย. ได้ตรวจสายพันธุ์เพื่อถอดรหัสพันธุ์กรรมแล้ว 15,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 74% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 4% และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 1.7%

จากการตรวจสอบข้อมูลสัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.พบสายพันธุ์เดลตา เพิ่มเป็น 57% ส่วนในภูมิภาคพบ 23% ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศ เป็นเดลตา 46% เกือบครึ่งแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับแนวทางฉีดวัคซีนโควิดให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ตอนนี้การกระจายของเดลตาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เบียดสายพันธุ์อัลฟาทั้งในกทม.และต่างจังหวัด โดยสายพันธุ์เดลตาพบใน 61 จังหวัด ขยายวงออกไปในจังหวัดที่ยังไม่เคยพบ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพบสายพันธุ์เดลตาในภาคใต้พอสมควร เช่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นราธิวาส สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆ พบค่อนข้างเยอะที่อุดรธานี 40 กว่าราย ชลบุรี 32 ราย กำแพงเพชร 14 ราย ทำให้คาดว่าอีกไม่นานจะกินพื้นที่เกือบทั้งหมดในไทย

“ส่วนกรณีสายพันธุ์เบตา ยังอยู่ในภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 24 ราย เขตที่ 12 อีก 60 ราย แต่ที่น่าแปลกใจคือพบใน จ.บึงกาฬ 1 ราย เป็นคนงานกลับมาจากไต้หวัน เมื่ออยู่ในสถานกักกันโรคครบ 14 วัน หาเชื้อหลายครั้งแต่ไม่พบเชื้อโควิด แต่เมื่อกลับบ้านไปแล้วพบว่าป่วย และมีการติดเชื้อภายหลัง ตรวจสอบพบเป็นสายพันธุ์เบตา”

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและถอดรหัสพันธุกรรมไปเทียบระหว่างไต้หวันและเทียบกับภาคใต้ ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง ดังนั้น จะต้องไปไล่ดู สอบสวนโรค แต่สายพันธุ์เบตาแพร่ไม่เร็วและยังอยู่ในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน